คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือและผ้าโสร่งไหม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรผ้าโสร่งไหมตามมาตรา 357 มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรสร้อยข้อมือด้วย ดังนั้น ความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือ ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงในความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือจึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 334 หรือรับของโจรตามมาตรา 357 เฉพาะเรื่องผ้าโสร่งไหมนั้นก็เป็นการกระทำคนละกรรมความผิดกัน ความผิดตามมาตรา 334 ในส่วนนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน ฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับผ้าโสร่งไหมโจทก์และโจทก์ร่วมคงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 เท่านั้น ในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฉบับ คงอุทธรณ์แต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าผ้าโสร่งไหมเป็นของโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่มีคำฟ้องอุทธรณ์ส่วนใดที่ได้แสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาจะมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานรับของโจรอันเป็นความผิดที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อพอที่จะอ้างอิงให้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายอุทธรณ์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้มีคนร้ายลักเอาสร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้นราคา 5,850 บาท และผ้าโสร่งไหม 1 ผืน ราคา 700 บาท ของนางบัวไข แก้วดวงดี ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ต่อมามีผู้พบเห็นจำเลยครอบครองผ้าโสร่งไหมอันเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าว ซึ่งนำไปฝากไว้กับผู้มีชื่อและผู้มีชื่อนำมามอบคืนให้ผู้เสียหาย ทั้งนี้จำเลยได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตหรือมิฉะนั้นจำเลยได้รับเอาผ้าโสร่งไหมอันเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายซึ่งถูกลักไปไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา334, 357 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 5,850 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วม เป็นเงิน 3,850บาท ด้วย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือและผ้าโสร่งไหม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรผ้าโสร่งไหมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรสร้อยข้อมือด้วย ดังนั้น ความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือ ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่โจทก์ฟ้อง กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าสร้อยข้อมือเป็นของจำเลย โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่าสร้อยข้อมือเป็นของโจทก์ร่วมเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือ จึงเป็นการไม่ชอบ ในคำฟ้องของโจทก์คงขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือรับของโจรตามมาตรา 357 เฉพาะเรื่องผ้าโสร่งไหมเท่านั้น ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ความผิดที่อ้างว่าจำเลยกระทำนั้นเป็นการกระทำคนละกรรมความผิดกัน ดังนั้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน ฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับผ้าโสร่งไหมโจทก์และโจทก์ร่วมคงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357เท่านั้น ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมแล้ว ในคำฟ้องอุทธรณ์ทั้งสองฉบับนั้น คงอุทธรณ์แต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าผ้าโสร่งไหมเป็นของโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่มีคำฟ้องอุทธรณ์ส่วนใดที่ได้แสดงให้เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมา จะมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานรับของโจรอันเป็นความผิดที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อพอที่จะอ้างอิงให้เห็นได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายอุทธรณ์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share