คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า ครอบครอง ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มิได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า สิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วยทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้น จึงจะเป็นความผิด อีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน การที่จำเลยครอบครองไม้ไว้ในฐานะลูกจ้างเพื่อนำส่งโรงเลื่อยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69,73

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยตัดฟันออกจากต้นแล้วทอนเป็นท่อนรวม 5 ท่อน ปริมาตร 8.10 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันมีไม้ประดู่ซึ่งยังมิได้แปรรูปจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครอง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 69, 73, 74ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง และนับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 46/2531 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคแรก, 69(2), 73(2) พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525มาตรา 3, 4 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก2 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก 3 ปี ของกลางริบ นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 46/2531 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 507/2532 ของศาลชั้นต้นจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า จำเลยครอบครองไม้ไว้ในฐานะลูกจ้างเพื่อนำส่งโรงเลื่อยจักรบำรุงไทยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยไม่ได้ยึดถือไว้เพื่อตน ย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง จำเลยจึงไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า คำว่า “ครอบครอง”ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 นั้น หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่หากแต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิดอีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองไม้ไว้ในฐานะลูกจ้างเพื่อนำส่งโรงเลื่อยจักรบำรุงไทย จึงย่อมเป็นความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share