คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกับคนร้ายทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และฆ่าผู้ตายโดยไม่เจตนามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290,295,83 การที่จำเลยที่ 1 และ 3 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 เป็นการกระทำในเวลาเดียวกับที่คนร้ายตีผู้ตายด้วยขวาน กรณีเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ที่ 3 กับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตายโดยมีเจตนาที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตายทุกคน ลักษณะของเจตนาในการกระทำความผิดเป็นเจตนาเดียวเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่เป็นความผิดกฎหมายหลายบทตามมาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ก. จำเลยทั้งสี่กับนายสัมพันธุ์ จ้อยจุฬ ซึ่งเป็นเยาวชนแยกดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งต่างหากและพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันใช้ไม้ขนาดกว้าง 3 นิ้วฟุต หนา1.5 นิ้วฟุต ยาว 1.5 เมตร 1 อัน ขวด ก้อนอิฐ ก้อนหิน และขวานเหล็กซึ่งมีส่วนคมกว้าง 3.5 นิ้วฟุต ยาว 5 นิ้วฟุต สันหนา 2 นิ้วฟุต1 เล่ม เป็นอาวุธรุมตีและฟันนายสิรวัช วิภาคทรัพย์ หลายครั้งถูกบริเวณศีรษะและตามร่างกายหลายแห่ง โดยจำเลยทั้งสี่กับพวกดังกล่าวมีเจตนาฆ่านายสิรวัช เป็นเหตุให้นายสิรวัชได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ข. จำเลยทั้งสี่กับพวกดังกล่าวในข้อ ก.ร่วมกันใช้ไม้ขนาดกว้าง 3 นิ้วฟุต หนา1.5 นิ้วฟุต ยาว 1.5 เมตร 1 อัน แป๊บน้ำ ขวด ก้อนอิฐ ก้อนหินเป็นอาวุธรุมตีทำร้ายร่างกายนายชำนาญ ชัยสมบัติเนตร ผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งถูกตามบริเวณร่างกายหลายแห่งจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย ค. จำเลยทั้งสี่กับพวกดังกล่าวในข้อ ก.ร่วมกันใช้อาวุธในข้อ ข.รุมตีทำร้ายร่างกายนายฉัตรชัย บุญปก ผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้ง ถูกบริเวณใต้สะบักแถบซ้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 83, 91ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ 1340/2530ของศาลชั้นต้น
ระหว่างพิจารณา นายชัยชนะ วิภาคทรัพย์ บิดาของนายสิรวัชวิภาคทรัพย์ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295 ประกอบมาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นวางโทษจำคุกคนละ 20 ปี กระทงที่สองและกระทงที่สามฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นวางโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมสองกระทงเป็นจำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4คนละ 21 ปี นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่1340/2530 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ให้วางโทษจำคุก 1 เดือน ข้อหาตามฟ้องให้ยก ริบของกลาง จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290,295 ประกอบด้วยมาตรา 86 ให้ลงโทษตามมาตรา 290 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 4 ปี ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปีจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 295ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 290 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก6 ปี สำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2530 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ที่โรงแรมนาซ่าไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ต่อมาจำเลยที่ 3 และคนร้ายหลายคนได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายนายสิรวัช ผู้ตาย ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2ที่ปากซอยวัฒนาซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมนาซ่าประมาณ 50 เมตรโดยมีคนร้ายบางคนใช้ขวานเป็นอาวุธตีผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 และ ที่ 2ได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนได้ไม้และขวานที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เพียงปากเดียวเบิกความว่าผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 นายพนิต และผู้ตายวิ่งหนีจำเลยที่ 1ที่ 2 กับพวกประมาณ 5 คน ออกมาถึงปากซอยวัฒนา ผู้เสียหายที่ 1และที่ 2 ถูกชายประมาณ 20 คน ซึ่งมีจำเลยที่ 3 ที่ 4 รวมอยู่ด้วยรุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 วิ่งหนีข้ามถนนตากสินไปได้ ผู้เสียหายที่ 1 ถูกต่อยล้มตะแคงลงบนพื้น จำเลยที่ 3 ที่ 4 เข้าไปรุมกระทืบและใช้ไม้หน้า 3 ตีบริเวณขาและด้านหลัง แล้วช่วยกันลากผู้เสียหายที่ 1 ไปไว้บนทางเท้าขณะนั้นผู้ตายได้เข้าไปยืนเคียงข้างผู้เสียหายที่ 1 แล้วร้องห้าม จึงถูกชายกลุ่มนั้นรุมทำร้าย โดยจำเลยที่ 4 ใช้สันขวานตีผู้ตายที่บริเวณศีรษะด้านหลัง 1 ทีผู้ตายล้มหงายลงบนพื้นถนน เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกรุมทำร้ายจนล้มลง และยังถูกเตะและถีบในขณะล้มอยู่ด้วย โอกาสที่จะมองเห็นคนร้ายที่ทำร้ายผู้ตายจึงมีน้อย ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถูกชายหลายคนรุมทำร้ายและจับตัวไว้ ชายคนหนึ่งถือขวานเข้ามาจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ผู้ตายวิ่งเข้ามากอดและบังตัวผู้เสียหายที่ 1 ผู้ตายจึงถูกตีด้วยขวานที่ศีรษะด้านหลังล้มลงไปพร้อมกับผู้เสียหายที่ 1คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งไม่อยู่กับร่องกับรอยมีพิรุธไม่เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 เห็นจำเลยที่ 4 ทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และใช้ขวานตีผู้ตาย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาฆ่าผู้ตายและจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกหลายคนไล่ตามทำร้ายผู้เสียหายกับผู้ตายที่หน้าโรงแรมนาซ่า แล้วติดตามไปที่ปากซอยวัฒนาขณะผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตายถูกรุมทำร้ายที่ปากซอยวัฒนาจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 6-7 เมตร ไม่ได้เข้าร่วมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตาย แต่ก็อยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะที่พร้อมจะเข้าช่วยเหลือหรือร่วมทำร้ายด้วยได้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 ว่า หลังจากผู้ตายถูกตีล้มลงจำเลยที่ 1 ตะโกนห้ามพวกที่รุมทำร้ายผู้เสียหายให้หยุดทำร้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำร้ายผู้เสียหายกับผู้ตายโดยมีเจตนาที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตายเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ความว่าได้ร่วมทำร้ายด้วย แต่ไม่มีอาวุธ คงใช้เท้ากระทืบผู้เสียหายที่ 1 แม้จะปรากฏว่ากลุ่มคนร้ายมีท่อนไม้ และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ ผู้เสียหายที่ 1 ก็ถูกตีที่ลำตัวและท่อนขา และถูกชกต่อยที่ใบหน้า ซึ่งมิใช่การทำร้ายอย่างฉกรรจ์ อันอาจทำอันตรายถึงชีวิต เห็นว่า เหตุรุมทำร้ายเกิดในเวลากระชั้นชิด ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 3 กับพวกนัดหมายกันทำร้ายผู้เสียหายกับผู้ตายให้ถึงแก่ความตาย อีกทั้งจำเลยที่ 3 กับผู้ตายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 3 กับพวก มีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายกับผู้ตายเท่านั้น ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และฆ่าผู้ตายโดยไม่เจตนาฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดสองกรรม และกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาเป็นอีกกรรมหนึ่งนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 มีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และฆ่าผู้ตายโดยไม่เจตนา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และ 3 ทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 เป็นการกระทำในเวลาเดียวกับที่คนร้ายตีผู้ตายด้วยขวาน กรณีเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ที่ 3 กับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตายนั่นเอง โดยมีเจตนาที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และผู้ตายทุกคน ลักษณะของเจตนาในการกระทำความผิดเป็นเจตนาเดียวจะแยกเอาการกระทำดังกล่าวออกเป็นความผิดสามกรรมหาชอบไม่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่เป็นความผิดกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สรุปแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290, 295, 83 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share