คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12565/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2537 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2537 กรณีจึงต้องตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 24 ทวิ (2) คือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2537 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการประเมินที่ไม่มีอำนาจกระทำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขใบแจ้งรายการประเมิน โดยกำหนดค่ารายปีตามฟ้อง ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 1,435,239.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินเล่มที่ 6 เลขที่ 1 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 สำหรับปีภาษี 2537 กับคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 23 เลขที่ 54 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เฉพาะปีภาษี 2537 และให้แก้ไขคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 23 เลขที่ 54 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 สำหรับปีภาษี 2538 ถึง 2542 กับเล่มที่ 23 เลขที่ 71, 48, 72, 51, 52, 56, 49 และ 46 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 643,521.36 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันในกรุงเทพมหานคร 10 สถานี สำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 49/3 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2537 ถึง 2542 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว จึงยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำชี้ขาดให้แก้ไขการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีเพียงบางรายการ โจทก์จึงชำระค่าภาษีตามคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วฟ้องคดีนี้ โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก่อน โดยวินิจฉัยเป็นรายสถานีบริการน้ำมัน กรณีสถานีบริการน้ำมันรายใดคู่ความทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์จะวินิจฉัยไปพร้อมกัน ซึ่งกรณีสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 49/3 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร จำเลยอุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์ไม่ต้องตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินและแจ้งการประเมินย้อนหลังให้โจทก์เสียภาษีได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2537 เห็นว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2537 สำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 49/3 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2537 กรณีจึงต้องตามมาตรา 24 ทวิ (2) คือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2537 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นการประเมินที่ไม่มีอำนาจกระทำได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดสำหรับทรัพย์สินรายการที่ 5 ซึ่งเป็นฐานตั้งแท็งก์น้ำของโจทก์ กรณีสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 49/3 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ประจำปีภาษี 2538, 2539, 2541 และ 2542 เสียด้วยและให้แก้ไขคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 23 เลขที่ 69 ให้จำเลยคืนเงิน 728,540.42 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share