แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ก็ตามจำเลยก็หยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้
แม้ความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานตามฟ้องข้อ ก. อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 (3), 60 และความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องข้อ ข. อันเป็นความผิดตามมาตรา 25 (1), 58 จะเป็นความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษแตกต่างกันก็ตาม เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานและอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องทั้งสองข้อดังกล่าวในวันเดียวกัน และอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายก็เป็นอาหารกระป๋องซึ่งภายในบรรจุปลาเกล็ดขาวทอดกรอบอย่างเดียวกัน อีกทั้งไม่ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทั้งสองข้อดังกล่าวด้วยเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91 ไม่
ปัญหาว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน รวมทั้งปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยสูงเกินสมควรนั้น ล้วนเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225