แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การจำนองที่ได้กระทำไว้ในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายซึ่งจะต้องถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 นั้น มาตรา 115 ถือเอาวันที่จดทะเบียนจำนองเป็นวันนับระยะเวลาดังกล่าว มิใช่ถือเอาวันที่ลูกหนี้และผู้รับจำนองไปแจ้งความจำนงขอจดทะเบียนจำนอง เพราะว่าจำนองเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งมีผลเมื่อมีการจดทะเบียนการจำนอง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการกระทำของลูกหนี้ได้โดยอาศัยเพียงลูกหนี้ได้กระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้อื่น หาได้บัญญัติถึงความสุจริตและมีค่าตอบแทนของผู้ถูกเพิกถอนไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้.
ย่อยาว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2529ลูกหนี้ได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 99 ไว้แก่ธนาคารสหมาลายัน จำกัด ผู้คัดค้าน เป็นการกระทำภายในระยะเวลาสามเดือนก่อนลูกหนี้ถูกฟ้องขอให้ล้มละลาย และลูกหนี้รู้ถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของตนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ยังกระทำการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นของลูกหนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 99 ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้าน ตามมาตรา 115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 ให้ผู้คัดค้านดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนา
ธนาคารสหมาลายัน จำกัด ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้ได้นำที่พิพาทมาประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเมื่อวันที่ 18 มกราคม2520 โดยมอบหนังสือสำคัญ น.ส.3 พร้อมใบมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านยึดไว้เป็นประกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2529 ผู้คัดค้านและลูกหนี้ได้ไปยื่นเรื่องขอจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดินอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และในวันที่ 17 กันยายน 2529เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนรับจำนองให้แก่ผู้คัดค้าน ดังนั้นการจำนองของผู้คัดค้านกับลูกหนี้จึงมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2529ไม่ใช่วันที่ 17 กันยายน 2529 จึงถือว่าผู้คัดค้านได้รับจำนองก่อนระยะสามเดือนที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านได้รับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจำนอง ขอให้มีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองที่พิพาท ระหว่างลูกหนี้ผู้จำนองกับผู้คัดค้านผู้รับจำนอง ให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภายในกำหนด 15 วัน หากไม่ไปให้ถือเอาคำสั่งของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนได้ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่พิพาทที่ลูกหนี้จำนองไว้กับผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 ผู้คัดค้านคัดค้านว่าการจำนองได้กระทำไว้ก่อนระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายเป็นการกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงขอเพิกถอนไม่ได้สำหรับปัญหาที่ว่าลูกหนี้ได้จำนองที่พิพาทไว้ภายในระยะสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงรับกันว่าผู้คัดค้านและลูกหนี้ได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนจำนองที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองสมุทรสาครเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2529และเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2529ปัญหาที่ยกขึ้นโต้เถียงกันจึงมีเพียงว่า การจำนองที่จะต้องถูกเพิกถอนตามนัยมาตรา 115 ดังกล่าวแล้วถือเอาวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจำนองหรือถือเอาวันที่จดทะเบียนจำนอง เห็นว่าจำนองเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งมีผลเมื่อมีการจดทะเบียนการจำนองตามสัญญาดังกล่าวสำหรับที่พิพาทมีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 17กันยายน 2529 จึงเป็นการที่ลูกหนี้ผู้จำนองเอาที่พิพาทตราไว้แก่ผู้คัดค้านในวันดังกล่าวปรากฏตามเอกสารหมาย ค.4 หาใช่ถือเอาวันที่ลูกหนี้และผู้คัดค้านไปแจ้งความจำนองขอจดทะเบียนจำนองที่พิพาทในวันที่ 1 สิงหาคม 2529 ไม่ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะถือเอาวันแสดงความจำนงขอจดทะเบียนจำนองหรือวันที่จดทะเบียนจำนองดังกล่าวแล้วนับถึงวันฟ้องคือวันขอให้ล้มละลายวันที่ 31 ตุลาคม 2529 ก็ยังอยู่ในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายเช่นกันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงขอให้เพิกถอนการจำนองที่พิพาทได้ตามนัยมาตรา 115 ดังกล่าวแล้วส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าวันขอให้ล้มละลายคือวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเห็นว่า เป็นข้อที่ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นคัดค้านมาแต่ศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นประเด็นและไม่มีสาระควรแก่การยกขึ้นวินิจฉัย ผู้คัดค้านฎีกาด้วยว่าศาลอุทธรณ์มิได้ยกประเด็นว่าผู้คัดค้านมิได้รับจำนองโดยลูกหนี้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้อื่น จึงขอให้ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยด้วยนั้นเห็นว่า ประเด็นนี้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงไว้ในคำคัดค้านจึงไม่มีประเด็นที่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัย ฎีกาอีกข้อหนึ่งของผู้คัดค้านในข้อที่ผู้คัดค้านได้รับจำนองโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนนั้น เห็นว่า กฎหมายมาตรา 115 ให้ผู้ร้องเพิกถอนการกระทำได้โดยอาศัยเพียงลูกหนี้ได้กระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้อื่น หาได้บัญญัติถึงความสุจริตและมีค่าตอบแทนของผู้ถูกเพิกถอนไม่ จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน