คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจะเดินทางไปต่างประเทศ เครื่องบินจะออกเวลา 8.40นาฬิกา จำเลยเดินทางไปถึงท่าอากาศยาน ได้ผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่สายการบินและรับบัตรที่นั่งผู้โดยสารกับบัตรรับกระเป๋าเดินทางแล้วเวลา 8.15 นาฬิกา ขณะที่เจ้าหน้าที่สายการบินกำลังจะนำกระเป๋าเดินทางของจำเลยลำเลียงขึ้นเครื่องบินและจำเลยกำลังจะเดินเข้าไปในช่องทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจค้นตัวจำเลยและกระเป๋าเดินทางของจำเลยพบเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา9,100ดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้นำออกนอกราชอาณาจักร เมื่อจำเลยรับบัตรที่นั่งผู้โดยสารแล้ว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเดินทางออกไปจากประเทศไทยและใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จพ้นขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยมีเจตนานำเงินตราที่ต้องจำกัดหรือต้องห้ามออกไปนอกประเทศจึงมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้เดินทางไปต่างประเทศ ได้ลักลอบนำและพาเงินตราต่างประเทศสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จำนวน 9,100เหรียญดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นของต้องจำกัดหรือต้องห้ามออกไปนอกประเทศทางด่านท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ ตามข้อห้ามอันเกี่ยวกับการนำของออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำด่านท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ตรวจพบการกระทำผิดและจับกุมจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงไม่อาจนำเงินตราต่างประเทศดังกล่าวออกไปนอกประเทศได้สมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้วพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิที่แก้ไขแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 90 กฎกระทรวง ฉบับที่ 13(พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 กฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ประกาศกระทรวงการคลัง ออกตามความในกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485ลงวันที่ 30 เมษายน 2529 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9ริบของกลาง และจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ ที่แก้ไขแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก4 ปี ของกลางริบ จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละ 20 ของเงินของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของกลางคืนให้จำเลย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เฉพาะข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ซึ่งศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2529 จำเลยกับนายชูเกียรติ ศรีชัยนันท์ จะเดินทางไปเมืองฮ่องกงโดยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ที.จี.642 เครื่องบินจะออกเวลา 8.40นาฬิกา จำเลยและนายชูเกียรติ ได้เดินทางมาที่ท่าอากาศยานกรุงเทพและได้ผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่สายการบินไทยและรับบัตรที่นั่งผู้โดยสารกับบัตรรับกระเป๋าเดินทางแล้วในขณะที่เจ้าหน้าที่สายการบินกำลังจะนำกระเป๋าเดินทางของจำเลยลำเลียงขึ้นเครื่องบินนายสุรชัย กลับประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจค้นตัวจำเลยและกระเป๋าเดินทางของจำเลย ตรวจพบเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจำนวน 9,100 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นของจำเลย โดยจำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเงินดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักร ส่วนปัญหาว่าจำเลยมีเจตนานำเงินดังกล่าวออกนอกประเทศหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงยังไม่เพียงพอ ที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งจำเลยต่อสู้โดยนำสืบว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ได้ตรวจพบเงินในกระเป๋าเดินทางหรือรองเท้าของจำเลย แต่พบเงินดังกล่าวในกระเป๋าถือของจำเลยซึ่งจำเลยเตรียมมาเพื่อให้นายสุขเกษม ชายงามที่นัดไว้บนภัตตาคารชั้น 4 ของสนามบินเพื่อให้นายสุขเกษมซื้อดราฟท์และขออนุญาตนำเงินตราออกนอกประเทศจำเลยไม่มีเจตนาจะนำเงินดังกล่าวออกนอกประเทศ เห็นว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นจำเลยนั้นเวลาประมาณ 8.15 นาฬิกา และจำเลยกำลังจะเดินเข้าไปในช่องทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง กำหนดเวลาเครื่องบินออกเวลา 8.40 นาฬิกาข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีเหตุผลเชื่อได้เลย เพราะเวลาเหลือน้อยและทิศทางที่จำเลยกำลังเดินเข้าเป็นช่องทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ใช่ทางไปภัตตาคาร คงฟังได้ตามรูปการณ์ว่าจำเลยมีเจตนานำเงินตราที่ต้องจำกัดหรือต้องห้ามออกไปนอกประเทศส่วนที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าขณะนั้นจำเลยยังมีโอกาสที่จะไม่เดินทางออกไปนอกประเทศ การกระทำของจำเลยเป็นเพียงตระเตรียมการ ยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยรับบัตรที่นั่งผู้โดยสารแล้วการกระทำของจำเลยก็เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเดินทางออกไปจากประเทศไทย และใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้นพ้นขั้นตระเตรียมไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นแล้วเมื่อจำเลยขึ้นเครื่องบินแล้วก่อนเครื่องบินจะบินไปจำเลยก็ยังมีโอกาสลงจากเครื่องบินได้ การกระทำของจำเลยก็อยู่ในขั้นตระเตรียมการเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีชอบแล้ว แต่ที่กำหนดโทษมาศาลฎีกาเห็นว่าสูงเกินไป เพราะจำนวนเงินไม่มากนัก และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรรอการลงโทษให้จำเลย”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ของกลางริบจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละ 20 ของเงินของกลาง ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี

Share