คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมทรัพยากรธรณีโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐเรียกเก็บเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนจำเลยเพื่อชำระเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศจากจำเลยตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุกพ.ศ.2514มาตรา24โจทก์จึงมิใช่บุคคลที่ทางราชการได้ตั้งแต่งหรืออนุญาตให้จัดกิจการเฉพาะบางอย่างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(15)ซึ่งจะมีกำหนดอายุความ2ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมมีนายศิววงศ์ จังคศิริ เป็นอธิบดี มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการทำเหมืองแร่เก็บค่าภาคหลวงแร่ และเรียกเก็บเงินแทนแร่จากผู้ทำเหมืองหรือผู้ซื้อแร่ที่มิได้ซื้อจากผู้เหมืองเพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงในกรณีที่การเรียกเก็บเงินแทนแร่ไม่อาจกระทำได้ตามกำหนดเวลา โจทก์โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจกู้ยืมเงินเพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนได้แล้วเรียกเก็บเงินแทนแร่จากผู้ทำเหมืองรวมถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุกพ.ศ. 2514 จำเลยเป็นผู้ทำเหมืองโดยได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุกและตะกั่ว ณ ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตาจังหวัดยะลา จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อระหว่าง พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ. 2528 จำเลย ได้ยื่นคำขอใบอนุญาตขนแร่ดีบุกปนตะกั่วต่อโจทก์รวม 40 ฉบับ และได้รับใบอนุญาตขนแร่จากโจทก์ให้ขนแร่ดีบุกปนตะกั่วจากเหมืองไปขายทั้ง 40 ฉบับ จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องชำระเงินแทนแร่ให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ออกใบอนุญาตขนแร่ให้จำเลยแต่ละคราวเพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆตามกฎหมาย แต่จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินแทนแร่ที่จำเลยค้างชำระทั้งสิ้น 867,960 บาท โจทก์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศแทนจำเลยไปแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยนำเงินแทนแร่ที่ต้องชำระตามใบอนุญาตขนแร่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 22 รวม398,760 บาท ไปชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือทวงถาม แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระ เมื่อโจทก์ได้รับผลวิเคราะห์แร่ดีบุกที่จำเลยขอใบอนุญาตขนแร่เพิ่มเติมจากงานควบคุมโรงถลุงแร่ดีบุกจังหวัดภูเก็ต โจทก์จึงได้มีหนังสือทวงถามจำเลยให้นำเงินที่ค้างชำระตามหนังสือทวงถามฉบับแรกและให้นำเงินแทนแร่ที่จะต้องชำระตามใบอนุญาตขนแร่ฉบับที่ 23 ถึงฉบับที่ 40รวม 469,200 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 867,960 บาท ไปชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 398,760 บาท นับแต่วันที่9 กุมภาพันธ์ 2528 ที่ผิดนัด จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 72,678.10 บาทและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 469,200 บาทนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2528 ที่ผิดนัด จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน62,185.06 บาท รวมจำเลยค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 1,002,823.16 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,002,823.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 867,960 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทำแร่ดีบุกไปจำนวนเท่าใด และจะต้องชำระเงินแทนแร่เพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนในอัตราเท่าไรของจำนวนแร่ดีบุก เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินแทนจำเลยไปแล้วเกินกว่า 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 867,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 134,863.16 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,002,823.16 บาท ให้แก่โจทก์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 867,960 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ออกเงินทดรองแทนจำเลยเพื่อชำระเงินเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศ มีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(15) ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐเรียกเก็บเงินจากจำเลยตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. 2514 มาตรา 24โจทก์จึงมิใช่บุคคลที่ทางราชการได้ตั้งแต่งหรืออนุญาตให้จัดกิจการเฉพาะบางอย่างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(15)ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share