คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยก็หยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ แม้ความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานตามฟ้องข้อ ก. อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา25(3),60 และความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องข้อ ข. อันเป็นความผิดตามมาตรา 25(1),58 จะเป็นความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษแตกต่างกันก็ตาม เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานและอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องทั้งสองข้อดังกล่าวในวันเดียวกันและอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายก็เป็นอาหารกระป๋องซึ่งภายในบรรจุปลาเกล็ดขาวทอดกรอบอย่างเดียวกัน อีกทั้งไม่ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทั้งสองข้อดังกล่าวด้วยเจตนาต่างกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91 ไม่ ปัญหาว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันรวมทั้งปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยสูงเกินสมควรนั้นรวมทั้งปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยสูงเกินสมควรนั้นล้วนเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา-ความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522มาตรา 6, 25(1) (3), 26, 28, 58, 60 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2525) ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2525 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 25(1) (3), 26, 28, 58, 60 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2525) ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2525ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล-กฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 สำหรับจำเลยที่ 1ความผิดตามฟ้องข้อ ก. ปรับ 40,000 บาท ความผิดตามฟ้องข้อ ข.ปรับ 20,000 บาท รวมปรับ 60,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ความผิดตามฟ้องข้อ ก. ปรับ 40,000 บาท ความผิดตามฟ้องข้อ ข. จำคุก 8 เดือนรวมจำคุก 8 เดือน ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 45,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาทเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยนี้กระทบต่อประชาชนเป็นส่วนรวมอาหารที่ผลิตมีเชื้อโรคและเป็นพิษประกอบกับตามรายงานการสืบเสาะโรงงานไม่เป็นสัดส่วนและอุปกรณ์การผลิตของจำเลยไม่สะอาด กรรมวิธีการผลิตก็ไม่ดีพอครอบครัวจำเลยก็ประกอบอาชีพด้านนี้มาตลอดและถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันมาแล้ว แต่จำเลยก็ยังไม่ตระหนักในความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ปรับปรุงการผลิตให้สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานเมื่อเข้ามาเป็นผู้จัดการโรงงาน โทษจำคุกจึงไม่รอ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาได้ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันซึ่งปัญหานี้แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ เห็นว่าแม้ความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตราฐานตามฟ้องข้อ ก. อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(3), 60 และความผิดฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องข้อ ข. อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1), 58 จะเป็นความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดและบทลงโทษแตกต่างกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารผิดมาตรฐานและอาหารไม่บริสุทธิ์ตามฟ้องทั้งสองข้อดังกล่าวในวันเดียวกันและอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายก็เป็นอาหารกระป๋องซึ่งภายในบรรจุปลาเกล็ดขาวทอดกรอบอย่างเดียวกันอีกทั้งไม่ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทั้งสองข้อด้วยเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91 ไม่ และเห็นว่า ปัญหาว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนี้ เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกาเห็นสมควร พิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2
อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษฐานผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ สำหรับจำเลยที่ 1ปรับ 20,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 จำคุก 8 เดือน แต่ลดโทษให้เพียงหนึ่งในสี่นั้น เห็นว่าสูงเกินสมควร ทั้งนี้เพราะตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าอาหารกระป๋องที่จำเลยผลิตเพื่อจำหน่ายมีจำนวนมากเพียงใด อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้จำหน่ายอาหารกระป๋องเช่นว่านั้นและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนอย่างไรบ้าง คดีจึงมีเหตุสมควรที่จะพิจารณาโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบา และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยเองได้ อีกทั้งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 25(1), (3), 26, 28, 58, 60 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2525) ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2525การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 25(1), 58 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2จำคุก 8 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share