คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ได้สั่งให้ โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน แต่โจทก์มิได้มานำส่งสำเนาอุทธรณ์ ให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด อีกทั้งโจทก์กระทำเพียงเสียค่าธรรมเนียมในการนำส่งเท่านั้น มิได้นำส่งเอง กรณีถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับอุทธรณ์ สำเนาให้จำเลยให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน โดยสั่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2533 ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2533จำเลยยื่นคำแถลงว่า ระยะเวลาที่ศาลสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยได้พ้นไปแล้ว โจทก์มิได้ปฏิบัติตามที่ศาลสั่งถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ ขอให้สั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 7 วัน แต่โจทก์มิได้นำส่งภายในกำหนด กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์โจทก์แล้วได้กำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 7 วัน แต่โจทก์มานำส่งสำเนาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ แต่การทิ้งฟ้องอุทธรณ์นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่จะพิจารณาสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเสียเอง จึงเป็นการไม่ชอบพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ได้สั่งให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน โจทก์จึงต้องนำส่งภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2533แต่โจทก์มิได้มานำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 3กรกฎาคม 2533 เพียงว่า ในวันดังกล่าวโจทก์ได้นำเงินค่าส่งหมายมาชำระต่อศาลเท่านั้น ซึ่งก็เกินกว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วทั้งโจทก์กระทำเพียงเสียค่าธรรมเนียมในการนำส่งเท่านั้นมิได้นำส่งเอง กรณีถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง”
พิพากษายืน

Share