แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เข้าจับจองครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเนื้อที่ 12 ไร่เศษ หลังจากที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินแล้วจึงเป็นที่ดินที่ไม่อาจจะแจ้งการครอบครองได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ถึงแม้จะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ(3) ก็ตามแต่ก็ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่ระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2515) หมวด 4ข้อ 9(2)(ค) กำหนดไว้ด้วย จึงจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้ ดังนั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีหนังสือให้โจทก์ออกจากที่พิพาทอันเป็นข้อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีการอนุมัติให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายสำหรับที่ดินที่พิพาทแล้วที่ดินที่พิพาทจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนดไว้ในอันที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินที่บ้านด่านนอกหมู่ที่ 6 ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เนื้อที่28 ไร่ โดยเข้าไปจับจองทำประโยชน์ปลูกยางพาราเต็มเนื้อที่ ตั้งแต่พ.ศ. 2507 และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เมื่อพ.ศ. 2520 โจทก์ได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินเพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะราย แต่ก็ยังไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดพิสูจน์สอบสวน ต่อมาที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ดังกล่าวนี้ถูกผู้อื่นแย่งการครอบครองไปประมาณ15 ไร่ และโจทก์ได้ขายให้ผู้อื่นไปอีก 200 ตารางวา ส่วนที่เหลือนี้เจ้าหน้าที่ไม่ยอมดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายให้โดยไม่มีมูลจะอ้างตามกฎหมาย ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นเท็จว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกจากที่ดิน โจทก์ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและมีหนังสือถึงจำเลยเพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นการเฉพาะราย แต่จำเลยไม่ออกหนังสือให้โดยให้เหตุผลว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(1) ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้บังคับจำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้โจทก์ หากขัดขืนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขัดกัน โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินที่อาจออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินอย่างไรโจทก์อ้างว่าได้แจ้งความประสงค์ที่จะได้สิทธิในที่ดินเป็นคนละกรณีกับการขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะราย ที่ดินตามที่โจทก์อ้างเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์เข้าถือครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่เพื่อเป็นข้ออ้างว่าได้ครอบครองที่ดิน แต่ความเป็นจริงโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับ จึงไม่มีสิทธิใด ๆจำเลยไม่เคยรายงานเท็จต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แต่ได้ตักเตือนให้โจทก์ออกจากที่ดินเพื่อมิให้ต้องถูกดำเนินคดีอาญา จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเพื่อรักษาที่ดินของรัฐ โจทก์ดื้อดึงกลั่นแกล้งฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบมาได้ความต้องกันว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าโจทก์เข้าไปจับจองครอบครองเมื่อ พ.ศ. 2507 หลังจากที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์เคยยื่นเรื่องราวขอมีสิทธิในที่ดินต่อทางราชการ แต่ทางราชการยังไม่ดำเนินการให้ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้มีหนังสือให้โจทก์ออกจากที่พิพาทคดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินที่พิพาทให้โจทก์เฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ(3) และมาตรา 59 ได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว กรณีของโจทก์นั้นเป็นเรื่องอ้างว่าเป็นการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะราย ซึ่งในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย ไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วแต่กรณีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด…”มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้คือ…
(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำหรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ”
วรรคสี่บัญญัติว่า “สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (2) และ (3)ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วแต่กรณีได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” ตามบทกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ แล้ว การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายจะต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนดด้วยซึ่งระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2515) หมวด 4การขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครอง กำหนดไว้ในข้อ 9 ว่า “การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังนี้…
(2) ความจำเป็นในกรณีที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้คือ…
(3) ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างอื่น แต่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเฉพาะราย”
ที่ดินพิพาทนั้นโจทก์เข้าจับจองครอบครองหลังจากที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว จึงเป็นที่ดินที่ไม่อาจจะแจ้งการครอบครองได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 ถึงแม้จะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ(3) ก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาไม่ได้ความว่าโจทก์ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะรายกลับได้ความว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้มีหนังสือให้โจทก์ออกจากที่พิพาทอันเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าไม่มีการอนุมัติให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายสำหรับที่ดินพิพาท ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนดไว้ในอันที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่เพราะอย่างไรเสียก็ไม่อาจจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้