แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ความผิดต่อ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ กับความผิดต่อพ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ ที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดที่แยกเป็นแต่ละกรรมต่างกัน และความผิดต่อ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ อยู่ในอำนาจการพิจารณา พิพากษาของศาลแขวงก็ตาม แต่ก็ได้กระทำลงโดยผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกันจึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา24 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ พร้อมกับความผิดต่อ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษต่อศาลจังหวัดได้โดยมิต้องผัดฟ้องฝากขังจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2531 เวลากลางวัน จำเลยมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ อันเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 จำนวน 3หลอด หนักรวม 0.06 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเมื่อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2531เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติพม่าได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางด้านจังหวัดระนอง โดยไม่ได้เดินทางเข้ามาตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองตามที่รัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเหตุเกิดที่ตำบลบ่อยางอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และท้องที่ใดไม่ปรากฏชัดของจังหวัดระนอง เกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้และยึดได้เฮโรอีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7(1), 8, 15, 67, 102ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2522 ข้อ 1(1) พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องของโจทก์ว่า ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 62 อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ผัดฟ้องไว้ จึงไม่รับฟ้องข้อหานี้
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 67 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ประทับฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา พร้อมกับข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลจังหวัดโดยมิได้ผัดฟ้องฝากขังได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษกับความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดที่แยกเป็นแต่ละกรรมต่างกัน และความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงก็ตาม แต่ก็ได้กระทำลงโดยผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 24 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พร้อมกับความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษต่อศาลจังหวัดได้โดยมิต้องผัดฟ้องฝากขังจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499…”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี