คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เข้าประมูลงานก่อสร้างกับทางราชการ ประมูลได้แล้วผู้ร้องได้ดำเนินการแต่ผู้เดียวแม้กิจการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง โดยจำเลยที่ 1เป็นเพียงตัวแทนผู้ร้องก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ยอมให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการผู้ร้องจึงไม่อาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 และขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 806 ดังนั้น ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างของจำเลยที่ 1 อันมีต่อทางราชการซึ่งศาลมีคำสั่งอายัดตามคำขอของโจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็ค โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม โดยจำเลยทั้งสองยอมใช้เงินให้โจทก์เป็นเงิน371,412 บาท จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดี ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่12 กรกฎาคม 2525 ว่า จำเลยที่ 1 จะได้รับเงินจากกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างรวมเป็นเงิน 600,000 บาทเศษซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ผู้รับมอบอำนาจจากกรมอาชีวศึกษากำลังจะจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อายัดเงินของจำเลยที่ 1 จำนวน 371,412 บาท โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ส่งเงินจำนวนนี้ต่อศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาต่อไปศาลได้มีคำสั่งให้อายัดตามขอและวิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ได้ส่งมอบเงินต่อศาลตามหมายอายัดแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า สิทธิรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างทั้งหมดเป็นของผู้ร้อง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของผู้ร้องในการเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1เป็นเรื่องตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของผู้ร้องที่ทำการออกหน้าเป็นตัวการ สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นของผู้ร้องทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดเงินของผู้ร้อง ขอให้ไต่สวนแล้วมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงให้ยกคำร้องผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ดำเนินการต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เงินค่าก่อสร้างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ส่งมาศาลนั้นเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นทรัพย์ของผู้ร้อง สัญญายืมใช่ชื่อห้างที่ผู้ร้องอ้างมานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอก สัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกับจำเลยร่วมสมคบกันทำขึ้น เพราะผู้ร้องเป็นผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ได้ส่งวัสดุก่อสร้างไปให้จำเลยก่อสร้างตามสัญญาจ้างดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นเจ้าหนี้จำเลยอยู่เป็นจำนวนมากจึงได้ทำสัญญายืมใช้ชื่อห้างไว้เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ร้องเกี่ยวกับค่าวัสดุก่อสร้างที่ผู้ร้องลงทุนให้จำเลยไป หาใช่เป็นกิจการของผู้ร้องไม่ การที่ผู้ร้องนำหลักฐานสัญญายืมใช้ชื่อห้างมายื่นต่อศาลขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เงิน 371,412 บาท ซึ่งวิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ ส่งมอบต่อศาลตามคำสั่งอายัดนั้นเป็นของผู้ร้องให้เพิกถอนคำสั่งอายัด โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาว่า เงินจำนวน371,412 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งอายัดไว้นั้นเป็นของผู้ร้องหรือของจำเลย ปัญหานี้ผู้ร้องอ้างว่า กิจการรับเหมาก่อสร้างวิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์เป็นกิจการของผู้ร้อง โดยผู้ร้องอาศัยชื่อของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าประมูลกับทางราชการเท่านั้น ความข้อนี้ผู้ร้องมีพยานคือ เอกสารหมาย ร.1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมให้ผู้ร้องยืมชื่อจำเลยที่ 1 เข้ายื่นซองประกวดราคากับกรมอาชีวศึกษา เอกสารหมาย ร.4,ร.5, ร.6, ร.7 หนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพัฒนา จำกัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งผู้ร้องค้ำประกันหนังสือค้ำประกันดังกล่าวต่อธนาคารอีกชั้นหนึ่ง พร้อมทั้งมอบสมุดเงินฝากของผู้ร้องประกันไว้กับธนาคาร และเอกสารหมาย ร.8 หนังสือให้ความยินยอมที่ภรรยาผู้ร้องให้ไว้ต่อธนาคาร เอกสารหมาย ร.9 ที่ผู้ร้องให้เงินจำเลยที่ 1 ไปซื้อแบบสำหรับประมูลการก่อสร้างจำนวนเงิน 3,000 บาท เอกสารหมาย ร.11 ซึ่งผู้ร้องขอให้ทางราชการแก้ไขสัญญาจ่ายเงินค่าก่อสร้าง เอกสารหมาย ร.14 ซึ่งผู้ร้องว่าจ้างให้นายประชุม กาญจนะ รับจ้างก่อสร้างบางอาคารแทนผู้ร้องเอกสารหมาย ร.18-19 ซึ่งเป็นใบนำเงินฝากเข้าบัญชีของผู้ร้องในธนาคาร ตามเอกสารดังกล่าวแสดงว่า ผู้ร้องได้ใช้ชื่อของจำเลยที่ 1เพื่อเข้าประมูลงานก่อสร้างกับทางราชการ เมื่อประมูลงานได้แล้วผู้ร้องก็เป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียวมาโดยตลอด เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะนำสืบฟังได้ว่า กิจการรับเหมารายนี้เป็นของผู้ร้อง จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้ร้องเท่านั้น แต่ผู้ร้องก็ไม่อาจทำให้สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อตัวแทนเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 ดังนั้น เมื่อผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์รู้อยู่ก่อนแล้วว่า จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้ร้อง ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์เพื่อให้เป็นที่เสียหายแก่โจทก์ย่อมไม่ได้ตามนัยกฎหมายดังกล่าวแล้ว”
พิพากษายืน

Share