คำวินิจฉัยที่ 9/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๔๗

วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดขอนแก่นโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๕ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางอรพินจันดา ที่ ๑ นายภิรมย์ กองผาทา ที่ ๒ นายสุรัตน์ รอดเดช ที่ ๓ นายวิฑูรย์ อร่ามพงษ์พันธ์ ที่ ๔จำเลย ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๘๗๘/๒๕๔๕ ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ความว่า จำเลยทั้ง ๔ เป็นข้าราชการกองอาคารและสถานที่ของโจทก์ มีหน้าที่รับชำระเงินค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าขยะ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง และอื่น ๆ จากลูกหนี้ของโจทก์ จำเลยที่๑ มีหน้าที่รับชำระเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ ออกใบเสร็จรับเงินในนามของโจทก์ให้แก่ลูกหนี้ เก็บรักษาเงินและรวบรวมเงินเสนอผ่านจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อนำเงินส่งงานเงินรายได้ กองคลัง แต่จำเลยที่ ๑ รับชำระเงินไว้ในครอบครองแล้วจงใจทุจริต เบียดบัง ยักยอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ช่วยหัวหน้างานธุรการ จำเลยที่ ๓ เป็นหัวหน้างานธุรการ และจำเลยที่ ๔ เป็นผู้อำนวยการกองอาคารและสถานที่ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ปฏิบัติตามระเบียบของมหาวิทยาลัยว่าด้วยเงินรายได้ พ.ศ. ๒๕๒๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กับระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.๒๕๒๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ทุจริตเบียดบัง ยักยอกเงินของโจทก์ไประหว่างเดือนเมษายน ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๘๘๕,๕๙๖.๘๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ชดใช้แล้วบางส่วน จำนวน ๒๘,๑๘๙.๗๕ บาท จึงขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม เป็นเงินจำนวน ๘๕๗,๔๐๗.๐๕ บาท
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเพราะเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยก่อนสืบพยาน จำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีเขตอำนาจศาล
โจทก์ยื่นคำชี้แจงว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยร่วมรับผิดในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมิใช่กรณีคำสั่งทางปกครองที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีฐานะเป็นกรม สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่เป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงไม่รวมถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการกระทำทางกายภาพ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑กระทำละเมิด คือจงใจทุจริต เบียดบัง ยักยอกเงินของโจทก์ไป เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการกระทำทางกายภาพ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้น โจทก์ฟ้องว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยเงินรายได้ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ทุจริต เบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไป อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลปกครอง เพื่อดำเนินการส่งให้ศาลในความรับผิดชอบทำความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ รับชำระเงินจากลูกหนี้ของโจทก์แล้วทุจริตเบียดบัง ยักยอกเงินบางส่วนไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะการกระทำความผิดอาญา มาตรา ๑๔๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มิใช่เป็นกรณีการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และมิใช่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคือศาลจังหวัดขอนแก่น ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่๔ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นมูลละเมิดเกิดขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน ๒๕๓๙ จนถึงวันที่ ๙ตุลาคม๒๕๔๑ โดยเหตุพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ การพิจารณาความผิดของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงต้องแบ่งเป็นสองส่วน กล่าวคือการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ก่อนวันพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยทั้งสาม ย่อมเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การดำเนินคดีในส่วนนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คือศาลจังหวัดขอนแก่น สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับแล้ว เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามมาตรา ๑๐แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การดำเนินคดีในส่วนนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คดีนี้จึงเป็นกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลปกครองขอนแก่นมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การฟ้องจำเลยที่ ๑ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และการฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๔ ในมูลคดีที่เกิดขึ้นหลังพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่ในส่วนการฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๔ ในมูลคดีที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น ศาลทั้งสองยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย โดยมูลคดีเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลบังคับใช้ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ” และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
สำหรับคดีนี้ ข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่รับและรักษาเงินของโจทก์ มีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นผู้บังคับบัญชา เมื่อจำเลยที่๒ ถึงที่ ๔ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของมหาวิทยาลัยว่าด้วยเงินรายได้ พ.ศ. ๒๕๒๑กับระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.๒๕๒๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ทุจริตเบียดบังเงินค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าขยะค่าควบคุมงานก่อสร้าง และค่าอื่น ๆ ที่เก็บจากลูกหนี้ของโจทก์ไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา ๙วรรคแรก (๓)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในเรื่องนี้ แม้มูลคดีพิพาทเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙มีผลใช้บังคับ แต่โจทก์ยังมิได้ฟ้องคดีจำเลยในศาลอื่น ดังนั้น เมื่อลักษณะแห่งคดีนี้เป็นคดีปกครองและโจทก์ฟ้องคดีจำเลยหลังจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ ใช้บังคับแล้ว อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวจึงเป็นอำนาจของศาลปกครองประกอบกับกรณีนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นที่กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
สำหรับคดีของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุละเมิดอันเป็นมูลคดีเดียวกันกับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ นั้น แม้ในส่วนนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลปกครองขอนแก่นจะไม่มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องเขตอำนาจศาล แต่อำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งบัญญัติเรื่องปัญหาเขตอำนาจศาลใน “คดี” ย่อมมิใช่เป็นเพียงอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยเฉพาะประเด็นย่อยในคดี หากแต่มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องที่มีมูลคดีเดียวกันได้ทั้งคดี ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพิพาทในส่วนของจำเลยที่ ๑ ยังคงเป็นเรื่องการกระทำละเมิด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคแรก (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ เช่นเดียวกับคดีพิพาทในส่วนของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยคดีพิพาทในส่วนของจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นกรณีที่มีมูลคดีเดียวกันโดยตรง ดังนั้น อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงยังเป็นของศาลปกครอง มิใช่ศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โจทก์ นางอรพิน จันดา ที่ ๑ นายภิรมย์ กองผาทา ที่ ๒ นายสุรัตน์ รอดเดช ที่ ๓ นายวิฑูรย์ อร่ามพงษ์พันธ์ ที่ ๔ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองขอนแก่น

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share