คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1605/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีนี้โจทก์เพียงคนเดียวที่เบิกความว่า โจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาท เป็นการเบิกความเพื่อประโยชน์ต่อตนฝ่ายเดียว พยานโจทก์ปากนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ครอบครองที่พิพาทจำนวนมากไม่แน่ชัดว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ส่วนไหนบ้าง ดังนี้เป็นฎีกาที่อ้างเพียงว่าคำเบิกความของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ โดยมิได้กล่าวอ้างมาในฎีกาว่าฝ่ายจำเลยมีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือกว่าหรือไม่ อย่างไรมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยทั้งสองควรชนะคดีอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ไว้ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นฎีกาไม่ชอบตามมาตรา 249 เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทอันเป็นที่ดินมือเปล่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2512 จำเลยที่ 1 ได้เช่าที่พิพาทจากโจทก์เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ มีอายุการเช่า 15 ปี แต่มิได้จดทะเบียนการเช่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าตลอดมา จนเมื่อปี 2517 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระค่าเช่า ในปี 2526 โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างทั้งหมดจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าเช่า ต่อมาต้นปี 2529โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2อพยพครอบครัวและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ หรือให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยที่สองพร้อมบริวารขนย้ายสิ่งของออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาเช่าที่ดินเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิในที่พิพาท จึงไม่มีอำนาจที่จะเอาที่พิพาทมาให้จำเลยที่ 1เช่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทแต่ผู้เดียวจำเลยที่ 2 ได้ซื้อสิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2525 และได้ครอบครองมาจนถึงปัจจุบันโดยโจทก์มิได้ทักท้วงห้ามปรามเป็นเวลาร่วม 5 ปีแล้ว โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายในกำหนดอายุความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง สัญญาเช่าที่พิพาทไม่เป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท ให้จำเลยที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่พิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ1,000 บาท นับจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากที่พิพาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีนี้โจทก์เพียงคนเดียวที่เบิกความว่า โจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาท เป็นการเบิกความเพื่อประโยชน์ต่อตนฝ่ายเดียว พยานโจทก์ปากนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ครอบครองที่พิพาทจำนวนมากไม่แน่ชัดว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ส่วนไหนบ้างดังนี้เป็นฎีกาที่อ้างเพียงว่าคำเบิกความของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือโดยมิได้กล่าวอ้างมาในฎีกาว่าฝ่ายจำเลยมีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือกว่าหรือไม่ อย่างไรมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยทั้งสองควรชนะคดีอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ไว้ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นฎีกาไม่ชอบตามมาตรา 249 เช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share