คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีภูมิลำเนาอยู่ประเทศฝรั่งเศสพิสูจน์ได้ว่า มีหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสมาตรา 11 และมาตรา 2123 ให้สิทธิเจ้าหนี้ที่เป็นคนสัญชาติอื่นยื่นคำขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ในประเทศฝรั่งเศสได้แม้จะไม่มีมาตราใดบัญญัติไว้โดยเฉพาะในกฎหมายล้มละลายของประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับกฎหมายล้มละลายแห่งประเทศไทยก็ตาม เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายในประเทศฝรั่งเศสได้ ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขในมาตรา 178 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แล้ว จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายในประเทศไทยได้

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนครหลวงวิสาหกิจ จำกัด ลูกหนี้ที่ 1 ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2531 และพิพากษาให้บริษัทนครหลวงวิสาหกิจจำกัด ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลาย ส่วนลูกหนี้ที่ 2 ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีอื่นศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2531 บริษัทติสเมตาล ลิออนแนลดูปองต์หรือเทเลเฟล็กซ์ ลิออนแนลดูปองต์หรือลิออนแนลดูปองต์ จำกัดโดยนายอัศวิน ปราศภัย ผู้รับมอบอำนาจ เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าหนี้เงินยืมที่ได้ทดรองจ่ายแทนบริษัทลูกหนี้ที่ 1 ไปจำนวน 2,237,500 บาท จากกองทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ที่ 1 รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้มาตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียน ณ ประเทศฝรั่งเศสเจ้าหนี้จึงเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรา 178แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แต่เจ้าหนี้ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าเจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศฝรั่งเศสได้เท่ากับเจ้าหนี้ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขตามมาตรา 178 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ เห็นสมควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรา 178(1) แล้ว เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในประเทศไทยได้แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ทำความเห็นเรื่องหนี้สินว่าอาจขอรับชำระได้หรือไม่ ควรให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในข้อนี้ต่อไป พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าหนี้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศฝรั่งเศสมีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ภายในสนามบินบริษัทเจ้าหนี้ไม่มีสาขาในประเทศไทย เป็นเจ้าหนี้ที่มีภูมิลำเนานอกราชอาณาจักร ส่วนลูกหนี้ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดจดทะเบียนและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์ซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าสนามบินและยื่นซองประกวดราคาเป็นตัวแทนจากนิติบุคคลอื่นในการตกลงราคากับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยราชการเจ้าหนี้แต่งตั้งลูกหนี้ที่ 1 ให้เป็นตัวแทนประมูลงานจ้างเหมาทำระบบสายพานลำเลียงการขนสิ่งของของผู้โดยสารกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยจ่ายเงินทดรองจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 แต่ลูกหนี้ที่ 1 ไม่สามารถประมูลงานดังกล่าวได้ เจ้าหนี้ทวงถามลูกหนี้ที่ 1 ให้จ่ายเงินดังกล่าวคืนแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 1 ไม่ชำระเจ้าหนี้จึงฟ้องลูกหนี้ที่ 1 คดีนี้ เมื่อลูกหนี้ที่ 1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าเงินทดรองจ่ายพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น2,237,500 บาท มีปัญหาตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายคดีนี้ของเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรา 178 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แล้วหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความจากคำนายอัศวิน ปราศภัย ทนายความของบริษัทเจ้าหนี้ที่ให้ไว้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ได้มีจดหมายติดต่อไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อขอหลักฐานเกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าวประเทศฝรั่งเศสส่งโทรสารพร้อมทั้งยืนยันว่าเจ้าหนี้ในประเทศไทยอาจขอรับชำระหนี้ในประเทศฝรั่งเศสได้ ปรากฏตามเอกสารพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.14 ส่วนกฎหมายล้มละลายของประเทศฝรั่งเศสคล้ายกับกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย แต่ไม่มีมาตราใดบัญญัติไว้ชัดแจ้งเช่นกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยคงมีแต่หลักทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสมาตรา 11 และมาตรา 2123 ตามเอกสารหมาย จ.14/1 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.14/2 เห็นว่าตามเอกสารดังกล่าวระบุว่า ฯลฯชาวต่างชาติ (ในกรณีนี้คือคนสัญชาติไทย) จึงย่อมมีสิทธิที่จะยื่นขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินในประเทศฝรั่งเศสได้ ทั้งนี้อันเนื่องมาจากเหตุผลตามกฎหมายดังนี้
มาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง กล่าวว่า “คนในสัญชาติอื่นมีสิทธิและหน้าที่ภายใต้กฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกันกับที่คนสัญชาติฝรั่งเศสจะมีสิทธิและหน้าที่ในรัฐของคนสัญชาตินั้นสังกัด” ฯลฯ ดังนั้น แม้จะไม่มีมาตราใดบัญญัติไว้โดยเฉพาะในกฎหมายล้มละลายของประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับกฎหมายล้มละลายแห่งประเทศไทย แต่เมื่อเจ้าหนี้นำนายอัศวินมาเป็นพยานในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นายอัศวินมีอาชีพเป็นทนายความ ทั้งเป็นผู้ติดต่อกับประเทศฝรั่งเศสจนกระทั่งได้บทบัญญัติกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสดังที่กล่าวแล้วมาประกอบ ซึ่งกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติห้ามเจ้าหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศ ดังนั้น เจ้าหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็อาจพิสูจน์หนี้ได้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ตามทางนำสืบของเจ้าหนี้เป็นการพิสูจน์ของเจ้าหนี้เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเจ้าหนี้ในประเทศไทยย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายในประเทศฝรั่งเศสได้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายในประเทศไทย ทั้งนายอัศวินพยานเจ้าหนี้แถลงว่าเจ้าหนี้ไม่เคยได้รับหรือมีสิทธิรับทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 นอกราชอาณาจักร กรณีของเจ้าหนี้ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขในมาตรา 178 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในประเทศไทยได้ ส่วนมูลแห่งหนี้เจ้าหนี้มีสิทธิจะได้รับจำนวนเพียงใด ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัย ไม่มีประเด็นในชั้นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น แล้วให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีนั้น ชอบแล้วฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิจารณาและมีคำสั่งใหม่

Share