คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตอนแรกจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตี ก. เพราะถูก ก. ดุ ด่า และทำร้ายร่างกาย แต่หลังจาก ก. ดุด่าและทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1แล้ว ก. ได้เดินเข้าไปนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ในห้อง จำเลยที่ 1เดินไปหาไม้ที่หลังบ้านมีช่วงเวลาที่จะคิดได้ว่าสมควรทำร้าย ก.หรือไม่ จำเลยที่ 1 หาไม่ได้แล้วเดินเข้าไปตี ก. ในขณะที่กำลังนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ ก. ยังมีลมหายใจอยู่และส่งเสียงร้องจำเลยที่ 1 เกรงว่าเพื่อนบ้านจะได้ยินเสียงร้อง จึงใช้ผ้ารัดคอโดยแรงจนกระทั่งแน่นิ่งไปซึ่งเป็นการกระทำที่มีสาเหตุมาจากเกรงว่าเพื่อนบ้านจะได้ยินเสียงร้อง มิใช่เพราะสาเหตุถูกข่มเหงจึงมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 หลังจากจำเลยที่ 1 ฆ่า ก. แล้ว ขณะกำลังหาที่ซุกซ่อนศพและกลบเกลื่อนหลักฐานอยู่นั้น ส. บุตร ก. ได้เข้ามาเห็นสภาพภายในห้องที่เกิดเหตุซึ่งมีพิรุธผิดสังเกต จำเลยที่ 1เห็นเช่นนั้นก็ใช้ไม้ตี ส. เพื่อปกปิดความผิดฐานฆ่า ก.การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฆ่า ส. เพื่อปกปิดความผิดอื่นและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตี ส.หลายทีเมื่อส. ยังไม่ตาย จึงใช้ผ้ารัดคออีกจนถึงแก่ความตาย เป็นวิธีธรรมดาในการฆ่าให้ถึงแก่ความตายไป มิใช่เป็นการฆ่าโดยทารุณโหดร้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีไม้ขนาด 1 คูณ 3 นิ้วจำนวน 1 ท่อน เป็นอาวุธได้ชิงทรัพย์ เครื่องเล่นวีดีโอเทป1 เครื่อง ราคา 12,000 บาท และวิทยุเทป 1 เครื่องราคา 1,200 บาท ของนายเกษม สุประดิษฐ์ ไปโดยทุจริตโดยจำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้ท่อนดังกล่าวตีนายเกษมอย่างแรงหลายครั้งตามบริเวณศีรษะ ใบหน้า ลำตัวและแขนทั้งสองข้าง เพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้แล้วจำเลยที่ 1 ยังใช้ผ้ารัดคอนายเกษม โดยมีเจตนาฆ่าโดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำผิดฐานชิงทรัพย์เพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ตนได้กระทำไว้จนเป็นเหตุให้นายเกษมถึงแก่ความตาย ภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว นายสุรพันธ์ สุประดิษฐ์ บุตรนายเกษมผู้ตาย ได้มาหาผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 ซึ่งมีไม้ขนาด 1 คูณ 3 นิ้ว อีกจำนวน 1 ท่อน เป็นอาวุธได้ชิงทรัพย์ธนบัตรจำนวน 10,000 บาท ของนายสุรพันธ์และรถยนต์กระบะยี่ห้อดัทสัน ของการเคหะแห่งชาติซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของนายสุรพันธ์ไปโดยทุจริต โดยในการชิงทรัพย์นั้น จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้ท่อนดังกล่าวตีนายสุรพันธ์ที่บริเวณศีรษะ ใบหน้าลำตัว และแขนทั้งสองข้างอย่างแรงหลายครั้ง เพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป และยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้จากนั้นจำเลยที่ 1 ยังได้ใช้ผ้ารัดคอนายสุรพันธ์ โดยมีเจตนาฆ่า โดยกระทำทารุณโหดร้ายและเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ เพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ จนเป็นเหตุให้นายสุรพันธ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ได้รับของโจรเครื่องเล่นวีดีโอเทป ซึ่งถูกจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ไปไว้จากจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 339, 357,91, 92 และขอให้ริบไม้ท่อน 2 ท่อนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวนทั้งสิ้น 43,800 บาท ให้แก่ผู้เสียหายตามส่วนของแต่ละคน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 288 และ 289 วางโทษจำคุกฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 335 จำคุก 5 ปี ฐานฆ่านายเกษม สุประดิษฐ์ตามมาตรา 288 จำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านายสุรพันธ์ สุประดิษฐ์ตามมาตรา 289 วางโทษประหารชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว ก็ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้อีกตามที่โจทก์ขอ คงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้ในฐานลักทรัพย์หนึ่งในสามตามมาตรา 92 เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน แม้จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม สอบสวน ลำพังแต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาก็พอเพียงที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ และตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่สมควรลดโทษให้จำเลยที่ 1 จึงคงให้ประหารชีวิตสถานเดียวริบไม้ท่อน 2 ท่อนของกลาง ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ทายาทของนายเกษม สุประดิษฐ์ 1,200 บาท นายสุรพันธ์ สุประดิษฐ์ 10,000 บาท และคืนอุปกรณ์รถยนต์หรือใช้ราคาทรัพย์แก่การเคหะแห่งชาติเป็นเงิน 32,600 บาท ข้อหาอื่นให้ยก ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) วรรคแรก ให้จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายเกษม สุประดิษฐ์ และนายสุรพันธ์ สุประดิษฐ์ บุตรของนายเกษม ถูกจำเลยที่ 1 ใช้ท่อนไม้กว้างประมาณ 3 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ยาวประมาณ 2 ศอก ตีทำร้ายหลายทีและใช้ผ้ารัดคอโดยเจตนาฆ่าบุคคลทั้งสองเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองถึงแก่ความตาย บาดแผลปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1ฆ่านายเกษมผู้ตายโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72หรือไม่ ในข้อนี้ถึงแม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็น และจำเลยที่ 1เบิกความในชั้นพิจารณาว่าตนถูกนายเกษมดุด่าตบหน้าและถีบท้องจนกระทั่งล้มลงโดยหาว่าจำเลยที่ 1 ซักผ้าไม่สะอาด จำเลยที่ 1จึงหยิบไม้ในบริเวณนั้นเข้าไปตีนายเกษมจนฟุบลง แล้วเอาผ้าม่านรัดคอจนกระทั่งนายเกษมแน่นิ่งไป แต่ตามบันทึกคำให้การประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.20 บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.29และภาพถ่ายหมาย จ.26 ได้ความว่า หลังจากนายเกษมดุด่าและทำร้ายจำเลยที่ 1 แล้ว นายเกษมเดินกลับไปนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ที่โต๊ะทำงานภายในบ้าน ส่วนจำเลยที่ 1 เดินไปทางหลังบ้าน หาไม้ได้ 1 ท่อนเป็นไม้หน้าสามยาวประมาณ 2 ศอก หยิบไม้นั้นมาถือไว้แล้วเดินเข้าไปในบ้านทางด้านหลังของนายเกษมและใช้ไม้ดังกล่าวตีนายเกษมที่ท้ายทอย 1 ครั้ง จนนายเกษมล้มลงนายเกษมพยายามจะลุกขึ้นจำเลยที่ 1 จึงตีซ้ำที่กกหูขวาและใต้คาง นายเกษมยังมีลมหายใจอยู่และส่งเสียงร้อง จำเลยที่ 1เกรงว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะได้ยินเสียงร้องของนายเกษม จึงใช้ผ้าสำหรับผูกม่านในห้องดังกล่าวรัดคอนายเกษมโดยแรงจนกระทั่งแน่นิ่งไป เห็นว่าถึงแม้ในตอนแรกจะฟังว่า จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตีนายเกษมเพราะถูกนายเกษมดุด่าเรื่องซักผ้าไม่สะอาดและทำร้ายร่างกายจริง แต่หลังจากนายเกษมดุด่าและทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้วนายเกษมได้เดินเข้าไปนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ในห้อง จำเลยที่ 1 เดินไปหาไม้ที่หลังบ้านมีช่วงเวลาที่จะคิดได้ว่าสมควรทำร้ายนายเกษมหรือไม่ จำเลยที่ 1 หาไม้ได้แล้วเดินเข้าไปตีนายเกษมในขณะที่นายเกษมกำลังนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ ประกอบกับรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตีนายเกษมเสร็จแล้ว นายเกษมยังมีลมหายใจอยู่และส่งเสียงร้อง จำเลยที่ 1เกรงว่าเพื่อนบ้านจะได้ยินเสียงร้องของนายเกษม จึงใช้ผ้ารัดคอนายเกษมโดยแรงจนกระทั่งแน่นิ่งไปซึ่งเป็นการกระทำที่มีสาเหตุมาจากการที่จำเลยที่ 1 เกรงว่าเพื่อนบ้านจะได้ยินเสียงร้องของนายเกษม มิใช่เพราะสาเหตุถูกข่มเหงและบังเกิดผลคือความตายของนายเกษมโดยจำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าผู้ที่ถูกรัดคอโดยแรงจะต้องตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาข้างต้น จึงมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 1ฆ่านายสุรพันธ์บุตรของนายเกษมด้วยนั้น จำเลยที่ 1 กระทำเพื่อให้ตนเองพ้นจากการถูกนายสุรพันธ์ฆ่า ประกอบกับความตกใจจนลืมตัวกลัวว่าจะถูกนายสุรพันธ์ฆ่าจึงใช้ผ้ารัดคอขณะต่อสู้กันเป็นการกระทำให้ตายอย่างธรรมดามิใช่กระทำด้วยความทารุณโหดร้ายเพื่อปกปิดความผิดอื่นหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้นั้น ในข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่ากระทำเพื่อป้องกันมิให้นายสุรพันธ์ฆ่าตนนั้น ขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.29 ซึ่งให้การไว้เมื่อวันที่9 สิงหาคม 2529 หลังจากถูกจับกุมเพียง 1 วัน ยังไม่ทันคิดแก้ตัวจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าตนเข้าทำร้ายนายสุรพันธ์ทางด้านหลังในขณะที่นายสุรพันธ์กำลังนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ และในการทำแผนประทุษกรรมจำเลยที่ 1 ก็แสดงท่าทางให้พนักงานสอบสวนจัดการถ่ายภาพไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.26 โดยแสดงท่าถือไม้ของกลางเข้าไปทำร้ายนายสุรพันธ์ทางด้านหลังรับกับลักษณะบาดแผลตามภาพถ่ายท้ายเอกสารหมาย จ.18 ภาพที่ 24 ซึ่งปรากฏว่าศพนายสุรพันธ์มีรอยเขียวช้ำที่บริเวณหูซ้ายรวมทั้งบริเวณคอค่อนมาทางด้านซ้ายข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนในข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าตนมิได้ฆ่านายสุรพันธ์ด้วยความทารุณโหดร้ายนั้นเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตีนายสุรพันธ์หลายที เมื่อนายสุรพันธ์ยังไม่ตาย จึงใช้ผ้ารัดคอนายสุรพันธ์อีกจนถึงแก่ความตายนั้น เป็นวิธีธรรมดาในการฆ่านายสุรพันธ์ให้ถึงแก่ความตายไป มิใช่เป็นการฆ่าโดยทารุณโหดร้าย และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าตนมิได้ฆ่านายสุรพันธ์เพื่อปกปิดความผิดอื่นหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ฆ่านายเกษมแล้วกำลังหาที่ซุกซ่อนศพและกลบเกลื่อนหลักฐานอยู่นั้น นายสุรพันธ์ได้เข้ามาเห็นสภาพภายในห้องที่เกิดเหตุซึ่งมีพิรุธผิดสังเกตจำเลยที่ 1 เห็นเช่นนั้นก็ใช้ไม้ตีนายสุรพันธ์เพื่อปกปิดความผิดฐานฆ่านายเกษม การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฆ่านายสุรพันธ์เพื่อปกปิดความผิดอื่นและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(7) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share