คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า “ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยอัคคีภัย วินาศภัย สูญหาย ชำรุด บุบสลาย ถูกทำลาย ถูกอายัดถูกยึดหรือถูกริบไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใด ๆ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียวและจะแจ้งให้เจ้าของทราบทันที ยอมติดตามฟ้องร้องเอาคืน…และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ” และปรากฏจากคำเบิกความพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ยึดรถยนต์พิพาทว่า ปัจจุบันรถยนต์พิพาทอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ พังไปหมดแล้ว เพราะถูกน้ำท่วมใหญ่2 ครั้ง รถยนต์พิพาทยังอยู่ระหว่างการยึดไว้เป็นของกลาง ยังไม่สามารถส่งมอบคืนแก่เจ้าของได้ จะคืนได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางแล้ว จำเลยผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดในกรณีที่รถยนต์พิพาทถูกยึดและโจทก์ไม่อาจขอรับรถยนต์พิพาทคืนได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านายสมบุญ คุ้มภัย ได้เช่าซื้อรถยนต์ซูซูกิกระบะของโจทก์ไป 1 คันมีนายบักใช้ แซ่ลิ้ม เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้ตกลงรับโอนการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว จากนายสมบุญ คุ้มภัย โดยความยินยอมของโจทก์ในราคาค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 89,910 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่สี่ให้โจทก์เพียง 1,670 บาทยังค้างชำระอยู่อีก 1,660 บาท และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดดังกล่าวเป็นต้นมาเกินสองงวดติดต่อกัน สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกันโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 8 บรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ส่งชำระให้แก่โจทก์แล้วทั้งหมดจึงถูกริบเป็นของโจทก์ และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยแต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบคงครอบครองใช้รถของโจทก์ตลอดมา ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้โดยอาจนำรถออกให้เช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาทคิดถึงวันฟ้อง 15 เดือน เป็นเงิน 45,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 45,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งรถคืนหรือใช้ราคากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน78,250 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ซูซูกิกระบะมาจากนายสมบุญ คุ้มภัย โดยทำหนังสือรับโอนเป็นหลักฐานโดยความยินยอมของโจทก์จริงแต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อได้ 3 งวด ต่อมาเมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน2526 จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อต่อไปให้แก่ นายจรัญ ภักดี อีกต่อหนึ่งโดยโจทก์ก็ตกลงยินยอมด้วยซึ่งจำเลยที่ 1 กับนายจรัญ ภักดี ได้ทำหนังสือโอนสิทธิการเช่าซื้อไว้เป็นหลักฐานที่บริษัทโจทก์มีนายชำนาญ ระกำดวง เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากนั้นนายจรัญ ภักดี ได้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันดังกล่าวตลอดมา และเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่จะต้องชำระในวันที่ 24 กันยายน 2526 นายจรัญ ภักดี ก็ได้เป็นผู้ชำระให้แก่โจทก์เอง สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ทำสัญญาโอนกัน สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ก็สิ้นสุดลงในวันดังกล่าวเช่นเดียวกันด้วย นายจรัญ ภักดี จะปฏิบัติผิดสัญญาหรือไม่แต่อย่างใด โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้อีก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2526 นายจรัญ ภักดี ได้ใช้รถดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและถูกควบคุมตัวไว้พร้อมทั้งรถยนต์คันดังกล่าวก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลคลองตันยึดไว้ซึ่งโจทก์ก็ทราบเรื่องดี แต่ไม่ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามขอคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลับปล่อยให้รถยนต์คันดังกล่าวถูกทิ้งไว้ให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินส่วน หากนำรถยนต์คันพิพาทออกให้เช่าก็สามารถให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท หากจะขายก็มีราคาไม่เกิน 20,000 บาทการที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายถึง 123,250 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 18,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 61,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมายจ.4 ข้อ 8 โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายในกรณีผิดสัญญาได้เฉพาะแต่กรณีที่จำเลยที่ 1ได้ครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์เท่านั้น การที่รถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้โดยโจทก์เพิกเฉยไม่ขอรับคืนเอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 3,000 บาท รวม 6 เดือน เป็นเงิน 18,000 บาท แก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ก็เป็นเวลาเพียง1 เดือน 11 วัน เป็นเงิน 4,100 บาท เท่านั้น เห็นว่า หนังสือสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมายจ.4 ข้อ 8 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี กระทำผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี หรือทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกอายัด ถูกยึด ถูกริบไม่ว่าโดยเหตุใดก็ดียอมให้ถือว่าสัญญานี้เลิกกัน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนแก่เจ้าของโดยพลันและผู้เช่าซื้อยอมรับชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือใช้ค่าเสียหายที่เจ้าของต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากทรัพย์สินที่ผู้เช่าซื้อไม่ส่งคืนทันทีตามข้อนี้อย่างหนึ่งอย่างใดตามแต่เจ้าของจะเลือก ทั้งนี้ จนกว่าผู้เช่าซื้อจะได้ลงลายมือชื่อทำบันทึกยอมคืนและส่งทรัพย์สินที่เช่าซื้อมอบคืนแก่เจ้าของแล้ว” จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งคืน ส่วนโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเท่าใดนั้น ร้อยตำรวจเอกนเรศน์ น้อยนารถ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ยึดรถยนต์พิพาทเบิกความว่า พยานได้เคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ได้ยึดรถยนต์พิพาทไว้ โจทก์ก็แจ้งให้พยานทราบว่าต้องให้นายจรัญผู้ต้องหาไปติดต่อขอรับหลักฐานมาด้วยตนเองแต่หลังจากนายจรัญได้ประกันตัวไปแล้วก็หลบหนีไปไม่มาพบพยานอีกตามคำเบิกความดังกล่าว ไม่ปรากฏวัน เดือน ปี ที่ร้อยตำรวจเอกนเรศน์ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้ยึดรถยนต์พิพาทไว้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาทเป็นเวลา 6 เดือน เป็นเงิน 18,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 8 ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า ถ้าทรัพย์สินมิได้อยู่ในความครอบครองของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของหรือหากส่งไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาแต่อย่างใด การที่รถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้โดยโจทก์เพิกเฉยไม่ขอรับคืนเอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 ระบุว่า “ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย อัคคีภัย วินาศภัย สูญหายชำรุด บุบสลายถูกทำลาย ถูกอายัด ถูกยึดหรือถูกริบไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใด ๆผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว และจะแจ้งให้เจ้าของทราบทันที ยอมติดตามฟ้องร้องเอาคืนและยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ” ทั้งปรากฏจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกนเรศน์ น้อยนารถ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ยึดรถยนต์พิพาทว่า ปัจจุบันรถยนต์พิพาทอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ พังไปหมดแล้ว เพราะถูกน้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้ง รถยนต์พิพาทยังอยู่ระหว่างการยึดไว้เป็นของกลาง ยังไม่สามารถส่งมอบคืนแก่เจ้าของได้จะคืนได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางแล้ว ข้อความที่ระบุในสัญญาดังกล่าวและคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกนเรศน์พยานจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในกรณีที่รถยนต์พิพาทถูกยึดและโจทก์ไม่อาจขอรับรถยนต์พิพาทคืนได้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนหากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคา ที่ศาลอุทธรณ์พิพาทมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share