คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของสวนลุมพินีซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกให้เป็นวนะสาธารณ์สำหรับประชาชนอยู่ในความดูแลรักษาของกรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย เทศบาลนครกรุงเทพ โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนพักผ่อนหย่อนใจดังนั้นเทศบาลนครกรุงเทพโจทก์ย่อมมีสิทธิเอาที่พิพาทให้เช่าเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายปรับปรุงสวนลุมพินีให้อยู่ในสภาพเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิมได้ ไม่ขัดพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นคู่สัญญาเช่ากับเทศบาลนครกรุงเทพโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างฯ โดยไม่มีการชำระบัญชีแต่ในการต่อสัญญาปีต่อ ๆ มา จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าห้างฯ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างฯแล้วก็ยังใช้ชื่อห้างฯ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ากับโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาเหล่านั้นในฐานะผู้จัดการและดำเนินกิจการค้าและใช้ที่ดินที่เช่าเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ตามวัตถุประสงค์เดิมตลอดมาเป็นเวลาหลายปี เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาในปี 2513 จำเลยที่ 2 ก็ได้ติดต่อกับโจทก์ขอต่ออายุสัญญาเช่า และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และอาศัยชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่1 อยู่เช่นเดิม หาได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างฯแล้วไม่พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาปิดบังแอบอ้างอาศัยใช้ชื่อห้างฯ จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์เพื่อกิจการค้าของจำเลยที่ 2 หรือเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 เองดังนั้นแม้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความจะไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างฯ แล้วก็ตามแต่สัญญานั้นก็ยังมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่ง เป็นผู้ลงชื่อในสัญญานั้นจำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการและหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสวนลุมพินีเนื้อที่ 600 ตารางวาเพื่อประโยชน์ในการค้ากับโจทก์มีอายุสัญญาเช่าครั้งละ 1 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา และได้ต่อสัญญาเช่าครั้งละ 1 ปีจนถึงปี พ.ศ. 2511 ต่อมาปี พ.ศ. 2512 โจทก์บอกกล่าวไม่ยอมต่ออายุสัญญาเช่าให้ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอผ่อนผันแล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2513 โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2513 เมื่อพ้นกำหนดแล้ว ถ้าจำเลยที่ 1 ยังไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกจากที่เช่าจำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับวันละ 2,000 บาท จำเลยที่ 3 ได้เข้าค้ำประกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับผิดชอบชำระหนี้และค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างฯ โดยไม่ชำระบัญชีแล้วจดทะเบียนตั้งบริษัทลุมพินีกอล์ฟและนิดาจำกัดขึ้น โดยจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 เข้ามาใช้ที่ดินของโจทก์โดยละเมิด จำเลยที่ 1, 2 และ 4 คงประกอบกิจการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2514 จนถึงวันฟ้องรวม 205 วัน (ที่ถูก 203 วัน) ค่าปรับวันละ 2,000 บาท เป็นเงิน 408,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1, 2 ชำระเบี้ยปรับวันละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาท ให้จำเลยที่ 3ชำระเงินค้ำประกันจำนวน 20,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1, 2 และ 4 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสัมภาระออกจากที่พิพาท

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำที่ดินในสวนลุมพินีอันเป็นสวนสาธารณะซึ่งมิใช่ทรัพย์สินของโจทก์มาให้จำเลยที่ 1 เช่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างและมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2507 สัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 12 ตุลาคม 2513 จึงไม่มีผลประการใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับ และโจทก์เรียกร้องเอาค่าปรับสูงเกินส่วน

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ระงับการจ่ายเงิน 20,000 บาทตามสัญญาค้ำประกันโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างแล้วหากสัญญาประนีประนอมยอมความไม่สมบูรณ์ สัญญาค้ำประกันย่อมไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย

จำเลยที่ 4 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 4 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ร่วมกันรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทและห้ามเกี่ยวข้องต่อไปให้จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวชำระเบี้ยปรับจำนวน 16,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวชำระเบี้ยปรับวันละ 80 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า (1) โจทก์มีอำนาจให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เช่าที่พิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่พิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของสวนลุมพินีซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกให้เป็นวนะสาธารณ์สำหรับประชาชน อยู่ในความดูแลรักษาของกรมนคราทร กระทรวงมหาดไทยปัจจุบันโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาสวนลุมพินีเพื่อให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้น เมื่อสวนลุมพินีอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำเอาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนลุมพินีให้ผู้อื่นเช่าเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายปรับปรุงสวนลุมพินีให้อยู่ในสภาพเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิมได้ ไม่เป็นการขัดกับพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ตามที่จำเลยอ้างประการใด ยิ่งกว่านั้นยังได้ความอีกว่าก่อนทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาท ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์ก็ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้นำเอาที่ดินพิพาทให้ผู้อื่นเช่าได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 แม้ในหนังสือจะระบุอนุมัติให้นายเจิมจิตต์ เลขะวณิช และพลตำรวจตรีพจน์ เภกะนันท์ เป็นผู้เช่าก็ตามแต่ปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.14 ว่านายเจิมจิตต์ เลขะวณิช ได้แจ้งต่อโจทก์ขอให้ทำสัญญาเช่าในนามของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการ ดังนี้โจทก์ชอบที่จะทำสัญญากับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ได้ และสัญญาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นคู่สัญญาและมีความผูกพันตามสัญญาเช่านั้นกับโจทก์และ (2) จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะปรากฏว่าจำเลยที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อตามสัญญาเช่ากับโจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างฯ โดยไม่มีการชำระบัญชี แต่ปรากฏว่าในการต่อสัญญาเช่าแต่ละปีต่อ ๆ มา จำเลยที่ 2 ซึ่งทราบดีว่าห้างฯ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างแล้วก็ยังใช้ชื่อห้างฯ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาเหล่านั้นในฐานะผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ยังคงดำเนินกิจการค้าและใช้ที่ดินที่เช่าเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ตามวัตถุประสงค์เดิมตลอดมาเป็นเวลาหลายปี ต่อมาเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาในปี 2513 จำเลยที่ 2 ก็ได้ติดต่อกับโจทก์ขอต่ออายุสัญญาเช่าต่อไป และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และยังคงอาศัยชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 2 หาได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างฯ แล้วไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้ว ทำให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาปิดบังแอบอ้างอาศัยใช้ชื่อห้างฯ จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์เพื่อกิจการค้าของจำเลยที่ 2 หรือเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 เอง ดังนั้น แม้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความจะไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างฯ แล้วก็ตาม แต่สัญญานั้นก็ยังมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงชื่อในสัญญานั้น จำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดในสัญญาประนีประนอมยอมความ

แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้เบี้ยปรับวันละ 80 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2514 อันเป็นวันผิดสัญญาถึงวันฟ้องรวม 205 วันเป็นเงินเบี้ยปรับ 16,400 บาท และให้ชำระเบี้ยปรับวันละ 80 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2 และ ที่ 4 ได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยผิดสัญญาถึงวันฟ้องเพียง 203 วันเท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 2 ชำระเบี้ยปรับให้โจทก์เป็นเงิน16,240 บาท และวันละ 80 บาทถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 4 จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อย

Share