คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความในมาตรา 158 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ว่า “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านการยึดทรัพย์ก็ให้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สอบสวน”มิใช่หมายความถึงกับต้อง สอบสวนพยานของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยเสมอไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าพยานหลักฐาน ที่ได้สอบสวนแล้วพอที่จะมีคำสั่งได้แล้วหรือไม่ โดยพิจารณาพยาน หลักฐานและพฤติการณ์ที่เพียงพอจะทราบความจริงได้ว่า ทรัพย์ ที่ยึดมานั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยึดหรือไม่ก็ย่อม ถือได้แล้วว่าเป็นการสอบสวนตามความหมายในมาตรา 158 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ไม่จำต้องสอบสวน พยานหลักฐานของผู้ร้องต่อไปให้ล่าช้าผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ล้มละลายอันเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งต้องการให้กระบวนพิจารณา ดำเนินไปโดยด่วนอีก.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8329 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ โฉนดเลขที่ 18199 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 150333 ถึง 150335 แขวงคลองตันเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือตึกแถวเลขที่915/3-5 (ที่ถูกเป็น 916/3-4)ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท บีแอนด์ซัน จำกัด ที่ 1 นายธารกุล เสาวพฤกษ์ ที่ 2 ลูกหนี้(จำเลย) ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.153/2527 ของศาลชั้นต้น ได้ยื่นคำร้องให้ถอนการยึดทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้ถอนการยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวด้วยเหตุว่า ทรัพย์สินนั้นมิใช่สินสมรสแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายธารกุล เสาวพฤกษ์แต่ผู้เดียว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2530 ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ได้ยื่นคำร้องว่า ลูกหนี้ที่ 1 กับนายธารกุลเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จากหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน เด็กหญิงศนิบุตรของลูกหนี้ที่ 1 กับนายธารกุลเกิดวันที่ 12 กรกฎาคม 2523จึงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกหนี้ที่ 1 กับนายธารกุลสมรสกันเมื่อต้นปี2523 และมีบุตรในกลางปีเดียวกันนั้น แสดงว่าลูกหนี้ที่ 1 กับนายธารกุลได้อยู่กินฉันสามีภรรยาก่อนจดทะเบียนสมรสซึ่งคาดว่าได้อยู่กินฉันสามีภรรยามาตั้งแต่ปี 2521 ฉะนั้นที่ดินโฉนดเลขที่18199 ซึ่งนายธารกุลรับโอนมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2521โฉนดเลขที่ 150333 ถึง 150335 นายธารกุลรับโอนมาเมื่อวันที่2 สิงหาคม 2522 อันเป็นเวลาก่อนนายธารกุลกับลูกหนี้ที่ 1จะจดทะเบียนสมรส แต่เป็นระยะเวลาที่นายธารกุลกับลูกหนี้ที่ 1ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาแล้ว จึงยึดมาชำระหนี้ได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 8329 แม้นายธารกุลรับโอนมาโดยทางมรดกเมื่อวันที่18 ตุลาคม 2519 แต่เมื่อปรากฏว่านายธารกุลและลูกหนี้ที่ 1 ได้ประกอบธุรกิจร่วมคือบริษัทบีแอนด์ซัน จำกัด และอีกทั้งเงินที่ลูกหนี้ที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจากผู้ร้อง อันเป็นมูลหนี้ที่ผู้ร้องนำมาฟ้องคดีนี้นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายธารกุลได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจการของบริษัทบีแอนด์ซัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของนายธารกุล และนายธารกุลเป็นผู้ดำเนินการให้ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้อง ถือได้ว่านายธารกุลได้ยินยอมให้สัตยาบันในการที่ลูกหนี้ที่ 1 ไปทำนิติกรรมเบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้อง นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ก่อนลูกหนี้ที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ ได้ดำเนินกิจการร้านอาหารชื่อสนคู่ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวลูกหนี้ที่ 1 และนายธารกุลจึงประกอบอาชีพส่วนตัวร่วมกันเพื่อนำรายได้ไปใช้จ่ายในครอบครัว การศึกษาของบุตรและอุปการะเลี้ยงดูบุตรหนี้ที่เกิดขึ้น ลูกหนี้ที่ 1 กับนายธารกุลจึงต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม ฉะนั้นที่ดินทั้ง 5 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมยึดมาชำระหนี้ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายธารกุล ลูกหนี้ที่ 2ในคดีหมายเลขแดงที่ล.153/2527 ผู้ร้องขัดทรัพย์และพยานของฝ่ายลูกหนี้ที่ 1 โดยไม่ให้โอกาสผู้ร้องแสดงหลักฐานว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรส และมีเหตุอย่างอื่นที่สามารถยึดทรัพย์สินดังกล่าวได้ เป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลกลับคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ถอนการยึดที่ดินทั้ง 5 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างและมีคำสั่งว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างนายธารกุลกับลูกหนี้ที่ 1 และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการสอบสวนพยานผู้ร้องต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ตามทางสอบสวน ลูกหนี้ที่ 1ได้จดทะเบียนสมรสกับนายธารกุลมาตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523โดยได้อยู่กินฉันสามีภรรยาก่อนจดทะเบียนสมรสเดือนเศษ เมื่อนายธารกุลได้ที่ดินทั้ง 5 แปลงมาก่อนทำการจดทะเบียนสมรสกับลูกหนี้ที่ 1โดยที่ดินโฉนดที่ 8329 นายธารกุลได้รับโอนมาทางมรดกของบิดาส่วนที่ดินอีก 4 แปลงได้ซื้อจากบุคคลภายนอกและได้ปลูกสร้างตึกแถวในนามส่วนตัว ที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของนายธารกุล ที่ผู้ร้องอ้างว่า นายธารกุลจัดการให้ลูกหนี้ที่ 1ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้อง และนำเงินไปใช้ในกิจการของบริษัทบีแอนด์ซัน จำกัด ผู้ร้องไม่มีหลักฐานรับฟังไม่ได้ การที่ลูกหนี้ที่ 1 ทำงานในบริษัทบีแอนด์ซัน จำกัด และได้ประกอบอาชีพส่วนตัวโดยเปิดร้านอาหารสนคู่นั้น ลูกหนี้ที่ 1 และนายธารกุลต่างประกอบอาชีพอิสระไม่เกี่ยวข้องกัน หนี้ที่แต่ละฝ่ายก่อให้เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกันของสามีภรรยาอันถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เป็นกฎหมายพิเศษเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปรวดเร็ว เมื่อมีการคัดค้านการยึดทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมพยานหลักฐานในสำนวนประกอบกับพฤติการณ์เพียงพอที่จะทราบความจริงได้ว่าทรัพย์ที่ยึดมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยึดได้หรือไม่ย่อมถือได้ว่า เป็นการสอบสวนตามมาตรา 158 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมพิจารณาและมีคำสั่งได้โดยไม่จำต้องให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ผู้นำยึดตรวจสอบพยานหลักฐานและให้โอกาสโต้แย้งหลักฐานดังกล่าวก่อนแต่ประการใด กระบวนพิจารณาในสำนวนร้องขัดทรัพย์ชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายแล้วคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ถอนการยึดที่ดิน 5 แปลงพร้อมตึกแถวเลขที่ 916/3-4 ที่ยึดไว้ชอบด้วยเหตุผล ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ได้จดทะเบียนสมรสกับนายธารกุล เสาวพฤกษ์ ลูกหนี้ที่ 2 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 153/2527 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่อไปเรียกว่าลูกหนี้ที่ 2ในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523 มีบุตรด้วยกัน 2 คนคนแรกชื่อเด็กหญิงศนิ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2523 ผู้ร้องในคดีนี้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8329 ตำบลสำโรงเหนืออำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 18199แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครและที่ดินโฉนดเลขที่150333 ถึง 150335 แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร รวม5 โฉนด พร้อมตึกแถวเลขที่ 916/3-4 ซึ่งมีชื่อของลูกหนี้ที่ 2ในคดีดังกล่าวถือกรรมสิทธิ์เพื่อรวบรวมไว้แบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีนี้ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 คดีนี้ขอให้ถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 สอบสวนแล้วเห็นว่าทรัพย์ที่ยึดไว้ในคดีนี้ทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ที่ 2 ในคดีดังกล่าวแต่ผู้เดียว มิใช่สินสมรสหรือลูกหนี้ที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
ปัญหาที่จะวินิจฉัยประการแรกมีว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ไม่ทำการสอบสวนพยานหลักฐานของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายก่อนมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด คงสอบสวนพยานฝ่ายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เพียงฝ่ายเดียวเป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 158 หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามความในมาตรา 158 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ที่ว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านการยึดทรัพย์ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน ฯลฯ นั้น มิใช่หมายความถึงกับต้องสอบสวนพยานของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยเสมอไปเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่ได้สอบสวนแล้วพอที่จะมีคำสั่งได้แล้วหรือไม่ โดยพิจารณาพยานหลักฐานและพฤติการณ์ที่เพียงพอจะทราบความจริงได้ว่า ทรัพย์ที่ยึดมานั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยึดหรือไม่ ก็ย่อมถือได้แล้วว่า เป็นการสอบสวนตามความหมายในมาตรา 158 แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ไม่จำต้องสอบสวนหลักฐานของผู้ร้องต่อไปให้ล่าช้า ผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งต้องการให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยด่วนอีกฉะนั้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 สอบสวนพยานฝ่ายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายธารกุล ลูกหนี้ที่ 2 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 153/2527 ของศาลชั้นต้นเพียงฝ่ายเดียว แล้วมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ โดยไม่ได้สอบสวนพยานของผู้ร้องนั้น จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share