คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 182/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุมีพยานพบเห็นจำเลยที่ 7 กับพวก 2-3 คน ขนของมาอยู่ที่ทาวเฮาส์ ที่เกิดเหตุ หลังจากเกิดเหตุแล้วมีการตรวจพบรอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝง ของจำเลยที่ 7 บริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อจับจำเลยที่ 7 ได้เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้ตายจากตัวจำเลยที่ 7 ทั้งชั้นสอบสวนจำเลยที่ 7 ก็ให้การรับสารภาพและนำชี้ ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีดังกล่าวประกอบคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 7 แล้วมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7 ได้ร่วมกับคนร้ายกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย ตามฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกอีกสามคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสุวัฒน์ ชูโชคชัย าและฆ่านายสุวัฒน์โดยทรมานทารุณโหดร้าย และไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (4) (5)(6) (7), 340, 340 ตรี, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14, 15 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินจำนวน 488,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ทายาทของนายสุวัฒน์ผู้ตาย ให้คืนเงินของกลางจำนวน39,000 บาท และเครื่องรับสัญญาณติดต่ทางโทรศัพท์ (แพคลิงค์)ของกลางแก่ทายาทของนายสุวัฒน์ผู้ตาย ริบมีดพก ท่อเหล็ก และกระเป๋าเดินทางของกลางและให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1297/2531 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ที่ 5 และ ที่ 7 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 7 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1297/2531 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7), 340 วรรคห้าแต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7) ซึ่งเป็นบทหนักให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 จำเลยที่ 1 และที่ 6รับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จำเลยที่ 7 รับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 7 หนึ่งในสามตามมาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (1) (2) ให้จำคุกจำเลยที่ 1ที่ 6 และที่ 7 ไว้ตลอดชีวิตให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน 488,000 บาทที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ทายาทของนายสุวัฒน์ ชูโชคชัย ให้คืนเงินของกลางจำนวน 39,000 บาท และเครื่องรับสัญญาณติดต่อทางโทรศัพท์(แพคลิงค์) ของกลางแก่ทายาทของนายสุวัฒน์ ชูโชคชัย และริบมีดพกท่อเหล็ก และกระเป๋าเดินทางของกลาง คำขอนอกนั้นให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5
โจทก์และจำเลยที่ 7 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 6ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายสุวัฒน์ ชูโชคชัยผู้ตายได้ถูกจำเลยที่ 1 ที่ 6 กับพวกใช้อาวุธมีดและท่อนเหล็กประทุษร้ายแทงและทุบตีปล้นทรัพย์เงินที่ติดตัวจำนวน 7,000 บาทให้โอนเงินจำนวน 500,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้ตายไปเบิกเงินจากบัญชีจำนวน 20,000 บาท และเอาเครื่องรับสัญญาณติดต่อทางโทรศัพท์ (แพคลิงค์) ของผู้ตายไปแล้วใช้มีดตัดศีรษะของผู้ตายออกจากตัวนำศรีษะใส่กระเป๋าเดินทางไปทิ้งที่อื่น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 7 มีว่าจำเลยที่ 7 ได้ร่วมเป็นคนร้ายกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายนที สุวรรณรัตน์ เป็นพยานเบิกความว่า พยานพักอยู่ที่ทาวน์เฮาส์ติดกับทาวน์เฮาส์ที่เกิดเหตุ เห็นจำเลยที่ 7 กับพวก 2-3 คนขนของมาอยู่ที่ทาวน์เฮาส์ที่เกิดเหตุเมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม2530 หลังจากนั้นเห็นจำเลยที่ 7 ยืนอยู่ที่หน้าทาวน์เฮาส์ที่เกิดเหตุในตอนเช้าอีก 3-4 ครั้ง ร้อยตำรวจโทสมภพ เองสมบุญเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยนิ้วมือและฝ่ามือแผงที่ผนังห้องน้ำ ชวดเบียร์ มีดทำครัว เครื่องรับโทรศัพท์และกระป๋องแป้ง จึงได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่แปนกพิมพ์ลายนิ้วมือเดียวกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ร้อยตำรวจเอกหญิงวิวรรณสุวรรณสัมฤทธิ์ เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจพิสูจน์รอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝงดังกล่าวเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือและฝ่ามือของจำเลยที่ 7 กับพวก ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า รอยนิ้วมือแฝงที่ขวดเบียร์ แก้วน้ำ และรอยฝ่ามือแฝงที่ผนังห้องน้ำตรงกับรอยนิ้วมือและฝ่ามือของจำเลยที่ 7 พยานจึงลงความเห็นว่าเป็นรอยนิ้วมือและฝ่ามือของบุคคลคนเดียวกัน ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.10 พันตำรวจโทชัยรัตน์ มีปรีชา เป็นพยานเลิกความว่าพยานได้ค้นตัวจำเลยที่ 7 ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่พบบัตร เอ.ที.เอ็ม ของผู้ตายจึงยึดไว้เป็นของกลาง พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่ช่งชี้ว่า จำเลยที่ 7มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นฆ่าผู้ตาย ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 7ก็ให้การรับสารภาพปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.55และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพปรากฏตามบันทึกการนำชี้เอกสารหมาย จ.56 และภาพถ่ายหมาย จ.57, จ.63 ถึง จ.66 และ จ.72พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 7ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 7 ได้ร่วมเป็นคนร้ายกระทำผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 7 ฎีกาว่า นายนที สุวรรณรัตน์ พยานโจทก์อยู่ติดกับทาวน์เฮาส์ที่เกิดเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุการณ์ปล้นฆ่าหรือเสียงร้อขอความช่วยเหลือ เป็นการขัดต่อเหตุผล นั้น เห็นว่าตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.55 เหตุการณ์ปล้นฆ่าเกิดขึ้นในตอนกลางวันของวันที่ 12 ตุลาคม 2530 ซึ่งเป็นเวลาที่นายนทีออกไปทำงานแล้ว การที่นายนทีไม่เห็นเหตุการณ์ปล้นฆ่าหรือเสียร้องขอความช่วยเหลือของผู้ตายจึงไม่ขัดต่อเหตุผล ส่วนที่จำเลยที่ 7 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจคุมตัวจำเลยที่ 7 เข้าไปในห้องน้ำทาวน์เฮาส์ที่เกิดเหตุแล้วให้จำเลยที่ 7 ใช้มือยันฝาผนังห้องน้ำเพื่อให้ได้รอยนิ้วมือมาตรวจพิสูจน์นั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจโทสมภพ เองสมบุญ ได้ตรวจพบรอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝงในที่เกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2530 ปรากฎตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.132 ก่อนจำเลยที่ 7 ถูกนำตัวจากจังหวัดเชียงใหม่มากรุงเทพมหานครหลายวันจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้รอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝงดังกล่าวมาโดยมิชอบดังที่จำเลยที่ 7 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 7 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share