คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลักเกณฑ์การประเมินอากรตามคำสั่งเฉพาะกรมศุลกากร ที่14/2524 กับคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 8/2530 สำหรับประเมินอากรที่โจทก์จะต้องชำระในกรณีที่เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาที่เคยมีผู้นำเข้าก่อนหน้านั้น ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดที่มีผู้นำเข้าภายในระยะ3 เดือน ก่อนที่โจทก์นำเข้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดนั้นถือไม่ได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด สินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นผลิตภัณฑ์อันเกิดจากผลพลอยได้ในการผลิตน้ำมัน และราคาน้ำมันในท้องตลาดมีขึ้นลงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทำให้ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากน้ำมันขึ้นลงตามไปด้วย ราคาสูงและต่ำในการนำเข้าแต่ละครั้งจึงเป็นราคาสินค้าขาเข้าซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและสถานที่ที่ของนำเข้าโดยไม่มีหักทอนและลดหย่อนราคา ถือได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าตามราคา ซี.ไอ.เอฟ.เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2532 โจทก์ได้สั่งซื้อและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าเคมีภัณฑ์ประเภท เมททิ่ว เอททิ่ว คีโตน (methyl ethylketone) และประเภท บิวทิ่ว อะครีเลท โมโนเมอร์(butyl acrylate monomer) รวม 8 เที่ยวเรือ โจทก์ชำระค่าภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงรายได้เทศบาล ตามราคาที่โจทก์ซื้อมาจริง และเจ้าพนักงานศุลกากร ของจำเลยได้สั่งให้วางประกันเพิ่มไว้อีกจำนวนหนึ่ง ต่อมากรมศุลกากร จำเลยได้ประเมินราคาสินค้าของโจทก์เพิ่มขึ้น โจทก์ได้นำเงินไปชำระเพิ่มแล้วรวมเป็นเงินค่าภาษีอากรขาเข้าและเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ไว้เกินกว่าที่โจทก์จะต้องพึงเสียจริงทั้งสิ้น542,969.25 บาท จำเลยต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยได้เก็บไว้ในแต่ละเที่ยว รวมเป็นเงินค่าดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินรวม 53,085.23 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนทั้งสิ้น 596,054.48 บาท ราคาที่โจทก์ซื้อมาและสำแดงเพื่อเสียภาษีอากรต่อจำเลยเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดในขณะนำเข้าอันพึงถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเรียกเก็บค่าภาษีอากรได้การที่จำเลยประเมินราคาสินค้าโจทก์เพิ่มขึ้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสองมาตรา 10 ทวิ และมาตรา 14 ทั้งราคาที่จำเลยถือเป็นเกณฑ์ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าของโจทก์นั้น ก็มิใช่ราคาตามความในพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 9 การประเมินราคาเรียกเก็บค่าภาษีอากรของจำเลยจึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยกับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 596,054.58 บาท แก่โจทก์ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 542,969.25 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าทั้งแปดเที่ยวมีปริมาณแตกต่างกับที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ก็มิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยจึงประเมินราคาสินค้าของโจทก์ให้ถูกต้องตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาดการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยชอบแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินอากรขาเข้า เงินเพิ่ม และชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลและพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 029-22547, 099-21670, 040-20816, 040-24085,060-23168, 081-22451, 030-21651, 012-24540 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับอากรขาเข้าและเงินเพิ่ม ให้จำเลยคืนเงิน 596,054.48บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นจำนวน542,969.25 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกา การประเมินของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้คือ จะถือเอาราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าซึ่งเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด หรือถือเอาราคาที่จำเลยประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โดยจำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินตามคำสั่งเฉพาะกรมศุลกากร ที่ 14/2524 เรื่องการตรวจสอบและประเมินราคาของขาเข้า เอกสารหมาย ล.1 แผนที่ 36 และ 37 สำหรับสินค้าเที่ยวที่ 1 และเที่ยวที่ 2 กับคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 8/2530 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาราคาที่ใช้ในการประเมินอากรและการตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 38 ถึง 41 สำหรับสินค้าเที่ยวที่ 3 ถึงเที่ยวที่ 8 ซึ่งให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดที่มีผู้นำเข้าภายในระยะ 3 เดือน ก่อนที่โจทก์นำเข้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดสำหรับประเมินอากรที่โจทก์จะต้องชำระ เห็นว่าคำสั่งของกรมศุลกากรดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางให้เจ้าพนักงานของจำเลยใช้สำหรับการพิจารณาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดโดยการเปรียบเทียบราคากับผู้นำเข้ารายก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ตามคำสั่งเฉพาะกรมศุลกากรที่ 14/2524ยังระบุให้ผู้อำนวยการกองประเมินอากรใช้ดุลพินิจพิจารณานอกเหนือจากหลักเกณฑ์ในคำสั่งดังกล่าวตามควรแก่กรณีได้แสดงให้เห็นว่าราคาที่มีผู้นำเข้าสูงสุดในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนโจทก์นำเข้าอาจไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงต้องให้ผู้อำนวยการกองประเมินราคาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทั้งแปดฉบับต่ำกว่าราคาที่เคยมีผู้นำเข้าก่อนหน้านั้น จึงถือเอาราคาที่มีผู้นำเข้าสูงสุดในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ก่อนโจทก์นำเข้าเป็นราคาที่ใช้ในการประเมินจึงไม่อาจถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้ ปัญหาต่อไปคือ ราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าตามราคา ซี.ไอ.เอฟ. ถือได้หรือไม่ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เห็นว่า โจทก์นำสืบว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าทั้งสองชนิดเป็นผลิตภัณฑ์อันเกิดจากผลพลอยได้ในการผลิตน้ำมันและราคาน้ำมันในท้องตลาดขึ้นลงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากน้ำมันขึ้นลงตามไปด้วย ฉะนั้นราคาสูงและต่ำในการนำเข้าแต่ละครั้งจึงอาจถือได้ว่าเป็นราคาสินค้าขาเข้าซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุนณ เวลาและที่ที่ของนำเข้าโดยไม่มีหักทอนและลดหย่อนราคา อันถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ชำระราคาตามปริมาณที่สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า ไม่ใช่ตามที่นำเข้าจริงเพราะปริมาณน้อยกว่าที่สำแดงไว้ นอกจากครั้งสุดท้ายที่มีปริมาณมากกว่าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าเป็นพิรุธสงสัยผิดปกติวิสัยในทางการค้านั้น เห็นว่าการที่ปริมาณสินค้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้ามีมากกว่าที่นำเข้าจริง อาจเกิดจากการขนส่งซึ่งต้องมีการขนถ่าย จะต้องมีความสูญเสียไปในระหว่างบรรทุกและขนถ่ายบ้าง รวมทั้งยังมีผู้ซื้อรายอื่นขนถ่ายไปก่อนส่งถึงโจทก์อาจทำให้ปริมาณขาดหายไปได้ ทั้งโจทก์ก็ต้องชำระราคาสินค้าให้ผู้ขายในปริมาณที่สำแดงในใบกำกับสินค้า (Invoice) และใบขนสินค้าขาเข้า จึงหาใช่พิรุธสงสัยเกี่ยวกับราคาอันแท้จริงในท้องตลาดไม่ และที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า ราคาที่ผู้นำเข้าซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศ รวมราคาค่าระวางและค่าประกันภัยก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงนำมาคำนวณอากรขาเข้าเสมอไปไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยเองใช้ราคาดังกล่าวมาคำนวณอากรขาเข้าเป็นปกติเพียงแต่ถือเอาราคาสูงสุดที่มีผู้นำเข้าก่อนหน้านั้นในระยะ 3 เดือนเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าราคาดังกล่าวใช้เป็นหลักในการคำนวณอากรขาเข้าไม่ได้จึงไม่ชอบด้วยเหตุผล ส่วนที่ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าแม้จะมีราคาถูกกว่าราคาที่ผู้อื่นนำเข้า ก็หาได้ปรากฏว่าผู้ขายมีการหักทอนหรือลดหย่อนราคาให้แก่โจทก์แต่อย่างใดไม่ เพียงแต่โจทก์นำสืบว่า ก่อนการซื้อจะต้องเจรจาต่อรองราคากับผู้ขายก่อนเท่านั้นซึ่งเป็นนโยบายทางการค้าของโจทก์ที่จะซื้อสินค้าราคาต่ำกว่าผู้อื่นมาขายจึงมิใช่ข้อตำหนิว่าราคาสินค้าของโจทก์มิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่าโจทก์นำเข้าสินค้าเป็นระยะ ๆ ตลอดเวลา ในระยะใกล้เคียงกันก็มีผู้อื่นนำสินค้าชนิดเดียวกันนี้เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีทั้งราคาสูงและต่ำสลับกันไป ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 20ถึง 35 โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการลดหย่อนราคากันเป็นพิเศษแต่อย่างใด ถือได้ว่าเป็นราคาขึ้นลงตามปกติในท้องตลาดจึงหาใช่ข้อพิรุธสงสัยว่าจะมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและเรียกเก็บเงินเพิ่มจากโจทก์จึงถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้ที่จำเลยประเมินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นจึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน

Share