คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีที่วินิจฉัยได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริง เป็นยุติว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเมื่อวันที่22 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยค้างชำระต้นเงินจำนวน27,652.07 บาท อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บ ได้ในขณะสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดร้อยละ 15 ต่อปี แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1) ที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยที่ค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี นั้นหมายความว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่ วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่ วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระ ตามความหมายแห่ง มาตรา 193/33

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระจำนวน 129,721.31 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 114,678.12 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ทำสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 จริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กำหนดในประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างส่งจากจำเลยที่ 2ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด มิได้ทำสัญญาแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน 114,558.86 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539) ต้องไม่เกิน15,043.19 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินต้นจำนวน 27,652.07 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18 คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนลงไปได้ไม่เกิน 5 ปีหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยค้างชำระต้นเงินจำนวน 27,652.07 บาท อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ในขณะสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดร้อยละ 15 ต่อปี เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า”สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี ส่วนดอกเบี้ย ตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระตามความหมายแห่ง มาตรา 193/33 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเวลา 8 ปีเศษขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น สำหรับจำเลยที่ 1 แม้ไม่ได้ฎีกา แต่หนี้ของจำเลยทั้งสองเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247″
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539) ย้อนหลังไป 5 ปี และถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share