คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8009/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 จำเลยที่ 3 ฎีกาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ เนื่องจากเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว และยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ศาลฎีกาจึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ป.อ. มาตรา 83, 91 และให้นับโทษจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ติดต่อกันทั้งสองสำนวน
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 รวม 6 กระทง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดรวม 3 กระทง รวมปรับ 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ โจทก์จำเลยไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว และยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) จึงให้จำหน่ายคดี เสียจากสารบบความ.

Share