คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ที่ให้จำเลยเช่า การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ เป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ แม้จะครอบครองทำประโยชน์นานเท่าใดก็ไม่อาจอ้างการแย่งการครอบครองในที่ดินพิพาทได้ นอกจากจะได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป เมื่อคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี ตามคำให้การของจำเลยมายันโจทก์ได้ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
โจทก์นำสืบส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานต่อศาล จำเลยไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่า โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาสืบ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงจึงเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารนั้นมาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) จึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้
การรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร มิใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตม์ตามประมวลรัษฎากร ทั้งสำเนาเอกสารมิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วยเช่นกัน จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณะของวัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ข้อ 5 และข้อ 18 ไม่ให้มิสซังถือที่ดินแทนผู้อื่น แต่ไม่ได้ห้ามมิให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแทนมิสซัง เมื่อมิสซังโรมันคาทอลิก กรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อ ว. เป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
คู่ความพิพาทกันในเรื่องสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทส่วนหนึ่ง และเรื่องขับไล่เพราะผิดสัญญาเช่าซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อีกส่วนหนึ่งปนกันมาซึ่งแต่ละส่วนแยกจากกันได้ สิทธิที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่จึงต้องแยกพิจารณาตามส่วนดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่อยู่ในประเด็นเรื่องขับไล่ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 โดยมีพระคาร์ดินัลมีชัย เป็นมุขนายก (ที่ถูก เป็นประมุข) มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพมหานคร เขตราชบุรี เป็นส่วนหนึ่งของโจทก์และขึ้นตรงต่อโจทก์ โดยมีมุขนายกมัส เป็นผู้ปกครองดูแล มีอำนาจหน้าที่ในการปกรครองดูแลบาทหลวงในเขตสังฆมณฑลที่รับผิดชอบและดูแลทรัพย์สินทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ตลอดจนวัดหรือสถานวัดบาทหลวงในเขตสังฆมณฑล วัดนักบุญมาการีตา บางตาล หรือวัดมาการีตา มารีอา บางตาล หรือวัดโรมันคาทอลิกบางตาล หรือวัดบางตาล เป็นสถานวัดบาทหลวงที่อยู่ในความปกครองดูแลของมิสซังมันคาทอลิก กรุงเทพมหานคร เขตราชบุรี มีบาทหลวงเป็นเจ้าอาวาสโจทก์มอบอำนาจให้มุขนายกมนัสเป็นผู้ฟ้องคดีแทนและมอบอำนาจช่วงได้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2479 หลวงสิทธิเทพการยกที่ดินมือเปล่าให้แก่วัดมาการีต บางตาล ซึ่งมีบาทหลวงอันเดรเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้นและมีอำนาจทำการเป็นผู้แทนของโจทก์ หลังจากนั้นวัดมาการีตา บางตาล หรือวัดโรมันคาทอลิกบางตาลได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาโดยให้ผู้อื่นเช่าทำนา ทำไร่ต่อมาโจทก์ให้นายวิศิษฎ์ วังตาล ทายาทของหลวงสิทธิเทพการไปแจ้งขอออก ส.ค.1 แล้วต่อมาได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 403, 404, 405, 406 และ 407 ตำบลหนองอ้อ กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 318, 319, 320, 321 และ 322 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีรวม 10 แปลง ใส่ชื่อนายวิศิษฎ์แทนโจทก์ โดยหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ศ.3) เลขที่ 405 ต่อมาเปลี่ยนเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2480 เมื่อปี 2524 จำเลยเช่าที่ดินบางส่วนของโจทก์ตามหนังสือรับรองการประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 321 เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่เศษ เพื่อทำเกษตรกรรม อัตราค่าเช่าไร่ละ 500 บาท ต่อปี ต่อมาประมาณปี 2539 จำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อเรียกให้จำเลยมาตกลงเรื่องค่าเช่าและชำระค่าเช่า ต่อมาคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลดอนกระเบื้องมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าแก่ผู้เช่าได้ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินแต่ไม่สามารถส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าได้ จึงใช้วิธีประกาศทางหนังสือพิมพ์ จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ หากโจทก์นำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าไร่ละ 500 บาท ต่อเดือน ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมทั้งขนย้ายสัมภาระและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 321 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไร่ละ 500 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของพระคาร์ดินัลมีชัย หนังสือมอบอำนาจไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีขับไล่และเรียกค่าเสียหาย มุขนายมนัส จึงมอบอำนาจช่วงไม่ได้ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจช่วงไม่ใช่ลายมือชื่อของมุขนายกมนัสโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่านาแก่จำเลยคำบอกกล่าวตามเอกสารท้ายฟ้องไม่เป็นการบอกเลิกการเช่านา จึงเป็นการบอกกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลไม่ชอบ เพราะประธานที่ประชุมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยครอบครองทำประโยชน์ ทำไร่ทำนาอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้ยความสงบ เปิดเผย และยึดถือเป็นเจ้าของมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนปี 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี แล้วโจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องคดีจำเลยมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ หากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกิน 500 บาท ต่อปี วัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกได้ที่ดินมาเกินกว่า 50 ไร่ ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป้นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารขนย้ายสัมภาระรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 321 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องหมายสีแดง ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยให้ค่าเสียหายปีละ 5,500 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 321 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณปี 2524 โจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเพื่อทำเกษตรกรรม ในอัตราค่าเช่าไร่ละ 500 บาท ต่อปี ต่อมาปี 2538 จำเลยไม่ชำระค่าเช่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกที่ว่า จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์แล้วว่าไม่เจตนายึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองจึงหมดสิทธิฟ้องเอาที่ดินคืนนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมทั้งขนย้ายสัมภาระและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผย และยึดถือเป็นเจ้าของตลอดมาโดยจำเลยแย่งการครอบครองก่อนปี 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี แล้ว โจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องคดี เห็นได้ว่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ที่ให้จำเลยเช่า การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ เป็นการยึดที่ดินพิพาทแทนโจทก์ แม้จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนานเท่าใดก็ไม่อาจอ้างการแย่งการครอบครองในที่ดินพิพาทได้ นอกจากจะได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป เมื่อคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี ตามคำให้การของจำเลยมายันโจทก์ได้โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทนี้มาก็เป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นที่จำเลยต่อสู้ไว้ในคำให้การ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงที่มุขนายกมนัส ผู้ร้บมอบอำนาจจากโจทก์มอบอำนาจช่วงให้นายมนัส หรือนายอำพล หรือนายไพรัช ฟ้องจำเลยจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามกฎหมายได้ หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.2 ผู้รับมอบอำนาจช่วง 3 คน ต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกัน โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจช่วงคนละ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.2 เพียง 30 บาท จึงไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด รับฟังเป็นพยานหลักฐานว่ามีการมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องคดีนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์นำสืบส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อศาล จำเลยไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่า โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาสืบแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวจึงเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารนั้นมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2) สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.2 จึงสามารถรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อปรากฏว่าเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยอ้างไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตป์ด้วยเช่นกัน สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.2 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ที่ดินพิพาทมิได้มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน แต่มีชื่อนายวิศิษฎ์ เป็นผู้ครอบครองซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะของวัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ข้อ 5 และข้อ 18 บัญญัติให้มิสซังถือที่ดินได้แต่เพียงในชื่อของมิสซังเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ให้มิสซังถือที่ดินแทนผู้อื่น แต่ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแทน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อนายวิศิษฏ์เป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ก็ตาม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปที่ว่า โจทก์บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการเช่านาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 34 นั้น เห็นว่า คดีนี้คู่ความพิพาทกันในเรื่องสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทส่วนหนึ่ง และเรื่องขับไล่เพราะผิดสัญญาเช่าซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ส่วนหนึ่ง กับคดีไม่มีทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งปนกันมาซึ่งแต่ละส่วนแยกจากกันได้ ดังนี้สิทธิที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่จึงต้องแยกพิจารณาตามส่วนดังกล่าวฎีกาของจำเลยข้อนี้อยู่ในประเด็นเรื่องขับไล่ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดไว้เกี่ยวกับการบอกเลิกการเช่านา ประธานคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลดอนกระเบื้องไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบเรื่องการบอกเลิกการเช่านาเพื่อให้จำเลยใช้สิทธิคัดค้าน และไม่เคยมีคำสั่งให้จำเลยออกจากที่นาแต่ประการใด โจทก์บอกเลิกการเช่านาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้นฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงเอกสารประกอบการพิจารณาต่อศาลฎีกาลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินของโจทก์ และโจทก์เป็นมิสซังโรมันคาธอลิกในกรุงสยาม ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 จำกัดสิทธิในการถือครองที่ดินในราชอาณาจักรไว้ไม่เกิน 9,000 ไร่ การมีชื่อผู้อื่นถือที่ดินแทนโจทก์ตามฟ้องจึงขัดต่อกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าจำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2549 หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว จึงถือว่าคำร้องดังกล่าวของจำเลยเป็นเพียงคำแถลงการณ์เท่านั้นการตั้งประเด็นคดีในชั้นฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้น จำเลยจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา จะทำเป็นคำแถลงการณ์หาได้ไม่ และเอกสารที่แนบท้ายคำร้องดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นคำแถลงการณ์ที่ยื่นเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลฎีกาด้วยนั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่จำเลยได้อ้างและยื่นต่อศาลโดยถูกต้องตามกระบวนวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share