คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3422/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยล้อมรั้วไม้ไผ่ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยยังคงทำการล้อมรั้วจนแล้วเสร็จ เป็นการแสดงเจตนาแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันที่มีการล้อมรั้วไม้ไผ่
ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้
โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 6/2498 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา เป็นของนายเลิศ นายย้อย และนางเยื้อน เมื่อบุคคลทั้งสามถึงแก่ความตายโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกในฐานะทายาทของนายเลิศได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวร่วมกับทายาทของนายย้อยและนางเยื้อนจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดิน 8896 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 จำเลยทั้งสองได้ล้อมรั้วไม้ไผ่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 149 ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองล้อมรั้งจนแล้วเสร็จ โจทก์จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอสอบเขตที่ดินหรือให้โจทก์ไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโจทก์จึงไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแต่จำเลยทั้งสองคัดค้านแนวเขตเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจรังวัดออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนขนย้ายรั้งไม้ไผ่ที่ล้อมรุกล้ำที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 6/2498 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามคำขอข้างต้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้รับมรดกของนายเลิศ โกษะและมิได้เป็นผู้ครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 6/25498 จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 ของจำเลยที่ 1 ทางด้านทิศตะวันออกตั้งแต่ปี 2502 ต่อมาจำเลยที่ 1 ยกที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อปี 2536 จำเลยที่ 2 จึงเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 6/2498 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 จำเลยทั้งสองได้ล้อมรั้วไม้ไผ่ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองล้อมรั้วจนแล้วเสร็จ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองได้ล้อมรั้วไม้ไผ่ที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ และเมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองยังคงทำการล้อมรั้วจนแล้วเสร็จ กรณีย่อมเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนาแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันที่มีการล้อมรั้วไม้ไผ่ คือ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2542 ที่โจทก์ฎีกาว่าหลังเกิดเหตุผู้ใหญ่บ้านได้เรียกโจทก์และจำเลยทั้งสองมาไกล่เกลี่ยเรื่องที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองตกลงกับโจทก์ว่าหามีการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองจะคืนให้โจทก์ และต่อมาทั้งสองฝ่ายยังได้ทำบันทึกต่อพนักงานสอบสวนด้วยว่า หากผลการรังวัดสอบเขตที่ดินได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใดก็จะดำเนินการฟ้องคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยทั้งสองยังเคารพสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์หาใช่เป็นการแย่งการครอบครองไม่และกรณีต้องนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 (ที่ถูก มาตรา 193/14) ประกอบมาตรา 1386 โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2542 นั้น เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง นั้น เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทในวันที่ 15 ตุลาคม 2544 ซึ่งเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share