คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7080/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้กำหนดเวลาเอาไว้ ฉะนั้นคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้โดยชอบแล้ว ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันพ้นกำหนดชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นกำหนดสัญญาดังกล่าว
การพิจารณาว่าเงินที่เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในสัญญาว่ามีข้อความระบุให้เจ้าหนี้เรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้เพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรหรือไม่ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ในข้อ 2 ว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนในจำนวนเงินที่เป็นหนี้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว(FLOATINGRATE) ในอัตราร้อยละ 19 และ 18 ต่อปี โดยวิธีคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารและถ้าต่อไปธนาคารจะขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้คิดได้แล้วจำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราใหม่ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ ส่วนสัญญากู้เงินและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินก็ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้มีเนื้อความในทำนองเดียวกันอีกทั้งสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ จากข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมให้สิทธิโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ไม่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาหรือไม่ก็ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379
เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินสิ้นสุดลงเพราะการบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ซึ่งปรับเปลี่ยนได้อีกต่อไปไม่ได้คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 2 อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 8,229,341.70บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 6,635,493.55บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 3,999,120.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้นำเงินจำนวน 25,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 22 ตุลาคม2540 จำนวน 1,012.50 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 10 พฤศจิกายน2540 จำนวน 12,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 24 ธันวาคม 2540จำนวน 18,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 26 มกราคม 2541 จำนวน17,847.70 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน25,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 จำนวน5,185 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 5 มิถุนายน 2541 และจำนวน18,117.94 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 13 ตุลาคม 2541 เข้าหักชำระหนี้ในวันดังกล่าวด้วย โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อนเหลือเพียงใดให้หักชำระต้นเงิน ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้เงินจำนวน1,651,424.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 6,679.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 5,185 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 9 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 37525 และ37526 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ)จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 69467ตำบลบางบัวทอง (คลองพระราชาพิมล) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ระหว่างพิจารณาบริษัทบริหารสินทรัพย์รัตนสิน จำกัด ผู้ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ และให้เปลี่ยนชื่อโจทก์จากเดิมมาเป็นชื่อผู้ร้องศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในชั้นฎีกาได้ ส่วนที่ผู้ร้องขอให้เปลี่ยนชื่อโจทก์มาเป็นชื่อผู้ร้องด้วยนั้นมีคำสั่งยก

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงใด และการที่จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยมีข้อกำหนดในสัญญาให้โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้า เป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์สาขาอโศกบัญชี เลขที่ 24178 ต่อมาวันที่ 31มกราคม 2535 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน3,500,000 บาท และในวันที่ 11 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินเกินบัญชีอีกวงเงิน 500,000 บาท รวมวงเงินทั้งหมด 4,000,000บาท กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 และ 18 ต่อปี และยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากไม่ชำระยินยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างทบเข้ากับต้นเงินแล้วคำนวณดอกเบี้ยต่อไปได้และเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 1,800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ กำหนดผ่อนชำระรายเดือน เดือนละ30,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 6 ธันวาคม 2538 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 6 ของเดือน และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 120 เดือนบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือลดลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า โดยมีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 37525 และ 37526 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานครและที่ดินโฉนดเลขที่ 69467 ตำบลบางบัวทอง (คลองพระราชาพิมล)อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ มีบันทึกข้อตกลงว่าถ้าโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบจำนวนหลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนบัญชี จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 3,999,120.89บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีจำนวน 25,000 บาท, 1,012.50บาท, 12,000 บาท,18,000 บาท, 17,847.70 บาท, 25,000 บาท และ 5,185 บาทในวันที่ 22 ตุลาคม 2540, 10 พฤศจิกายน 2540, 24 ธันวาคม 2540, 26 มกราคม 2541, 17 กุมภาพันธ์ 2541, 7 พฤษภาคม 2541 และ 5 มิถุนายน 2541 ตามลำดับ ซึ่งการนำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวแต่ละครั้งหักชำระหนี้ได้เพียงเล็กน้อย ส่วนสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้งครั้งสุดท้ายวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 จำนวน 31,000 บาท ซึ่งหักชำระหนี้ได้แต่เพียงหนี้ในส่วนดอกเบี้ยเพียงบางส่วน ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินจำนวน 1,651,424.32 บาท ดอกเบี้ย102,626.74 บาท ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 24สิงหาคม 2541 ขอให้ชำระหนี้ บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินและบอกกล่าวบังคับจำนองโดยให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน2541 ตามเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23 ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1ค้างชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสิ้นจำนวน 4,978,884.23บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกครั้งในวันที่ 13 ตุลาคม 2541 จำนวน 18,117.94 บาท เห็นว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 ไม่ได้กำหนดเวลาเอาไว้ ฉะนั้นคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เคยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ เมื่อตรวจดูหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.21 แล้ว มีเนื้อความระบุชัดเจนให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2541 หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังเพิกเฉยโจทก์ขอถือเอาหนังสือฉบับนี้เป็นการบอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน ส่วนเอกสารหมาย จ.22 และ จ.23เป็นใบตอบรับของการไปรษณีย์โทรเลขที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.21 ให้จำเลยทั้งสอง ในใบตอบรับทั้งสองฉบับมีลายมือชื่อผู้รับแทนจำเลยทั้งสอง จึงถือว่าจำเลยทั้งสองได้รับคำบอกกล่าวของโจทก์โดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนดชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้จนถึงวันสิ้นกำหนดสัญญาคือวันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 4,978,884.23 บาท ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30มิถุนายน 2540 สัญญาจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ต่อจากนั้นคิดได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ส่วนข้อกำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่ให้โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับหรือไม่นั้นข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ทั้งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินตั้งแต่อัตราร้อยละ 17.50, 25, 21และอัตราสุดท้ายในขณะยื่นฟ้องคืออัตราร้อยละ 18 ต่อปี โดยอาศัยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์เป็นการปรับโดยมีกฎหมายรองรับและอนุญาตให้ปรับได้ ตามกลไกของตลาดการเงินและภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ดังนั้น ข้อกำหนดให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้จึงไม่เป็นการกำหนดเบี้ยปรับ โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยตามอัตราดังกล่าวได้ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง เห็นว่า เบี้ยปรับ คือเงินจำนวนหนึ่งที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ดังนั้น การพิจารณาว่าเงินที่เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในสัญญาว่า มีข้อความระบุให้เจ้าหนี้เรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้เพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรหรือไม่ ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.9 ได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ในข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1ยอมเสียดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนในจำนวนเงินที่เป็นหนี้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FLOATING RATE)ในอัตราร้อยละ 19 และ 18 ต่อปี โดยวิธีคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร และถ้าต่อไปธนาคารจะขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้คิดได้แล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราใหม่ได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบและให้ความยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ล่วงหน้าโดยไม่โต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้นส่วนสัญญากู้เงินและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.10 และจ.11 ก็ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ในข้อ 2 มีเนื้อความในทำนองเดียวกัน อีกทั้งสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมายจ.15 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จากข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้สิทธิโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ไม่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาหรือไม่ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดเรื่องดอกเบี้ยในสัญญาเป็นเบี้ยปรับ ศาลจึงใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินสิ้นสุดลงเพราะการบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ซึ่งปรับเปลี่ยนได้อีกต่อไปไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 2 อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าในข้อ 2ของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.8 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เท่ากัน กล่าวคือร้อยละ 19 และ 18 ตามลำดับแต่โจทก์นำสืบไม่ได้ความชัดแจ้งว่ายอดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2541ถึงวันฟ้องที่ขอมารวม 998,914.23 บาท นั้น แบ่งเป็นยอดดอกเบี้ยตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 เท่าใด และสัญญาเอกสารหมาย จ.8เท่าใด โจทก์คงขอคิดรวมกันมาในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 25, 21 และ18 สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 และ 21 ที่โจทก์คิดคำนวณมานั้นเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 2 โจทก์จึงคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ได้ดังนั้น การคิดอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 จึงต้องคิดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่โจทก์ประสงค์ ส่วนตามสัญญากู้เงินนั้นเมื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น นับแต่วันที่ 1ตุลาคม 2541 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเกินอัตราดังกล่าวอีกต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำนวน 4,978,884.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กันยายน 2542) ต้องไม่เกิน998,914.23 บาท โดยให้นำเงินจำนวน 18,117.94 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1ชำระในวันที่ 13 ตุลาคม 2541หักชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวเสียก่อนด้วย ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้เงินจำนวน 1,754,051.06บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 1,651,424.32 บาท ในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ถึงวันที่ 30กันยายน 2541 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541ถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 กันยายน 2542) และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองเสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์

Share