คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้การที่โจทก์ลาออกจากงานก่อนกำหนด ตามข้อบังคับ ของจำเลยโจทก์ต้องได้รับความเห็นชอบและได้รับ อนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยก่อนและคณะกรรมการบริหารของจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1. ต้องเข้าร่วม ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2539/40 เพื่อตอบข้อซักถาม ของที่ประชุมเกี่ยวกับบัญชีงบดุล 2. จะพึงปฏิบัติต่อ ผู้ตรวจสอบบัญชีโดยเคร่งครัด 3. สิทธิที่พึงได้รับ ตามระเบียบร้าน ฯ จะได้รับต่อเมื่อปิดงบดุลเสร็จสิ้น 4. ให้เสนอทำบัญชีงบทดรองมาให้คณะกรรมการพิจารณา ในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 และอนุมัติจัดจ้างโจทก์ นอกเวลาตามอัตราค่าจ้างเดิม โจทก์ตกลงกับจำเลย ถือว่าโจทก์สละเงื่อนเวลาในการรับเงินที่โจทก์มีสิทธิ จะได้รับไปจนกว่าปิดงบดุลเสร็จนั้นก็ตาม แต่เมื่อ โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ หลังจากนั้น ค. กรรมการรักษาการผู้จัดการได้มีหนังสือถึงโจทก์ มีข้อความว่า “ตามที่โจทก์ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการฯ ให้ทำการการปิดบัญชีประจำปี 2539ให้เสร็จภายในกำหนด แต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ คณะกรรมการฯ มีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที” ย่อมมีผลเท่ากับจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาออกโดยไม่ถือเอาประโยชน์ตามข้อดังกล่าวอีกต่อไปจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสิทธิของโจทก์อันจะพึงได้รับให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 97,380 บาทเงินสะสม 55,202.58 บาท เงินสมทบ 56,411.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าชำระเสร็จและค่าจ้างค้าง 21,099 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ก่อนโจทก์ลาออก โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการร้าน ดูแลรับผิดชอบฝ่ายบัญชี ได้รับมอบหมายจัดทำงบการเงินประจำปี โดยโจทก์ให้สัญญาว่าจะทำและปิดบัญชีให้เสร็จในเดือนกรกฎาคม 2540 หากไม่เสร็จจะขอรับเงินอันพึงได้จากการลาออกภายหลังจากการทำงบดุลเสร็จ และค่าจ้าง21,099 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง เพราะจำเลยมิได้ว่าจ้างให้โจทก์ทำงานต่อ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเงินสะสม เงินสมทบ ค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ย พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 97,380 บาท เงินสะสม 55,202.58 บาทเงินสมทบ 56,411.50 บาท และค่าจ้าง 21,099 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ลาออกจากงานก่อนกำหนด ตามข้อบังคับโจทก์ต้องได้รับความเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยก่อน คณะกรรมการบริหารของจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1. ต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2539/40 เพื่อตอบข้อซักถามของที่ประชุมเกี่ยวกับบัญชีงบดุล 2. จะพึงปฏิบัติต่อผู้ตรวจสอบบัญชีโดยเคร่งครัด3. สิทธิที่พึงได้รับตามระเบียบร้านฯ จะได้รับต่อเมื่อปิดงบดุลเสร็จสิ้น 4. ให้เสนอทำบัญชีงบทดรองมาให้คณะกรรมการพิจารณาในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 และอนุมัติจัดจ้างโจทก์นอกเวลาตามอัตราค่าจ้างเดิม โจทก์ตกลงกับจำเลยถือว่าโจทก์สละเงื่อนเวลาในการรับเงินที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับไปจนกว่าปิดงบดุลเสร็จนั้นเห็นว่า เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงินสะสม เงินสมทบและค่าจ้างตามฟ้องอยู่แล้ว การที่โจทก์มีหนังสือลาออกจากงานจำเลยอนุมัติให้ลาออกภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ เมื่อโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540นายคมจักร ปะหะกิจ กรรมการรักษาการผู้จัดการได้มีหนังสือถึงโจทก์ มีข้อความว่า “ตามที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ให้ทำการการปิดบัญชีประจำปี 2539 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ คณะกรรมการฯ มีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที” เห็นได้ว่า การที่คณะกรรมการจำเลยมีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที มีผลเท่ากับจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาออกโดยไม่ถือเอาประโยชน์ตามเงื่อนไขทั้งสี่ข้อดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสิทธิของโจทก์อันจะพึงได้รับให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน

Share