คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นจำเลยที่ 2 ร่วมข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าผู้ตายก็ดี แต่โจทก์มีพยานแวดล้อมซึ่งล้วนแต่เห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับการตายและการพบศพของผู้ตาย เมื่อฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนแล้ว รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง
ศาลล่างปรับบทลงโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าผู้ตายว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ตรี และมาตรา289 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 277 ตรีมิใช่บทความผิด แต่เป็นบทที่ลงโทษให้หนักขึ้นแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคสองความผิดตามมาตรา 276 และมาตรา 289 ก็มีหลายวรรค ทั้งมาตรา 277ตรีก็เป็นบทลงโทษที่มีหลายอนุมาตรา ต้องปรับบทให้ถูกต้องชัดเจนโดยมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยว่าจำเลยที่ 1,2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรค 2 ให้ลงโทษตามมาตรา 277 ตรี(2) และมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4),(5) และ (7).(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 276, 277ตรี, 278, 280, 284, 288, 310 และ 318 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา7 และ 72
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ตรี และ 289 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 และ 72 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ให้ลงโทษประหารชีวิตและความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนทำไว้ ให้ลงโทษประหารชีวิตความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 52 คงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย เป็นจำคุกตลอดชีวิต และความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนทำไว้เป็นจำคุกตลอดชีวิต สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ศาลให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่ต้องนำโทษในกระทงความผิดอื่นมารวมเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิตเท่ากัน ข้อหาอื่นให้ยกเสีย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ในชั้นฎีกาคงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่าได้กระทำความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1ข่มขื่นกระทำชำเราเด็กหญิง ม. จนสำเร็จความใคร่ แล้วฆ่าเด็กหญิงม. เพื่อปกปิดความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่เท่านั้น ในปัญหานี้โจทก์มีนายเสวย มงคลรัตน์ เบิกความเป็นพยานว่า ในวันที่ 5สิงหาคม 2527 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ได้เห็นเด็กหญิง ม.และจำเลยที่ 2 ลงจากรถยนต์ที่ถนนหลังบ้านของจำเลยที่ 3 แล้วเด็กหญิงม.และจำเลยที่ 2 ได้พากันเดินไปทางบ้านของจำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งขี่รถจักรยานต์แล่นตามรถยนต์มาได้ขี่รถแล่นตามเด็กหญิง ม.และจำเลยที่ 2 ไปด้วย และในตอนเย็นได้กลับมาถึงวัดป่าพฤกษ์เวลาประมาณ 17 นาฬิกา พบชาวบ้านชุมนุมกันอยู่ที่บ้านนายทวีหรืออ้อและชาวบ้านได้ถามว่าพบเห็นเด็กหญิงม. บ้างหรือไม่ จึงได้เล่าเหตุการณ์ที่พบเห็นเด็กหญิง ม. ไปกับจำเลยที่ 2 ให้ฟัง นายพยุง คล้ายสุบรรณ พยานโจทก์เบิกความว่าในวันที่ 5 สิงหาคม 2527 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ได้พายเรือผ่านบ้านของจำเลยที่ 3 ได้ยินเสียงร้องของผู้หญิงร้องให้ช่วยด้วยดังมาจากทางบ้านของจำเลยที่ 3 นายอุดม สว่างประเสริฐ พยานโจทก์เบิกความว่าในวันที่ 5 สิงหาคม 2527 เวลาประมาณเที่ยงวัน ได้ไปซื้อกล้วยที่บ้านของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อเดินไปถึงทางหลังบ้านได้ไปยืนอยู่ที่ประตูพบจำเลยที่ 2 เช็ดถูรอยเลือดเมื่อร้องถามซื้อกล้วยจำเลยที่ 3 ปฏิเสธว่าไม่มี นายอรรถแสงอาวุธ พยานโจทก์เบิกความว่าในวันที่ 5 สิงหาคม 2527 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ได้พายเรือหาปลาไปทางบ้านของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เห็นจำเลยที่ 2 พายเรือสวนทางมาโดยที่จำเลยที่ 1 นั่งอยู่ที่หัวเรือตรงตอนกลางเรือมีผู้หญิงนอนอยู่ เห็นจากแสงไฟฟ้าหลอนนีออนและหลอดธรรมดาจากบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้าม นายถาวร ภู่พันธ์พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2527 เวลาประมาณ 22นาฬิกา ได้เดินพาคนมาถึงบริเวณบ้านของนางเปล่ง เป็นสวนกล้วยได้เปิดไฟฉายซึ่งติดอยู่ที่ศรีษะส่องไปเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 วิ่งหนีไปทางแม่น้ำ เมื่อฉายไฟไปที่ท้องร่องสวน เห็นผู้หญิงนอนอยู่มีใบตองปิดไว้ จึงรีบกลับบ้าน รุ่งขึ้นได้ไปเล่าเหตุการณ์ที่พบเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 หนีไปให้นายเกรียงไกร ศิริพัฒน์ เจ้าของโรงสีข้าวซึ่งตนเป็นลูกจ้างอยู่ฟังนายเกรียงไกรก็มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่านายถาวรได้มาเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวให้ฟังจริง และให้ไปบอกให้โจทก์ร่วมทราบ นายถาวรจึงไปที่บ้านนายทวีหรืออ้อและเล่าเหตุการณ์ที่พบเห็นให้นายมานิตย์ โพธิไพจิตร สารวัตรกำนันฟัง นายมานิตย์ได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์อีกว่า ในวันที่ 6 สิงหาคม 2527ขณะที่คุยอยู่กับนายทวีหรืออ้อมีนายเสวยมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องพบเห็นเด็กหญิงม. ลงรถไปกับจำเลยที่ 2 แล้วมีนายถาวรมาพบอีกและเล่าเหตุการณ์ที่พบเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้ฟัง หลังจากรับแจ้งเช่นนั้นแล้วได้ไปที่บริเวณสวนของนายเปล่งก็พบเด็กหญิงม. นอนอยู่ในร่องสวนจึงกลับไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปลาม้า พันตำรวจโทเกษม เจริญโต ขณะที่ยังรับราชการตำแหน่งสารวัตรใหญ่อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปลาม้าพยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อได้รับแจ้งจากนายมานิตย์แล้วจึงไปยังที่เกิดเหตุ พบศพเด็กหญิงม. ที่ร่องสวนของนางเปล่ง มีประชาชนมามุงดูจำนวนมาก ได้มีนายเสวย นายพยุงนายอรรถและนายถาวรซึ่งมาดูศพด้วยได้เล่าเหตุการณ์ที่พบเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ฟัง ขณะนั้นเองจำเลยที่ 1 ได้มาดูเหตุการณ์ยังที่เกิดเหตุด้วย นายอรรถและนายถาวรชี้ตัวจำเลยที่ 1 ให้ดู พันตำรวจโทเกษมจึงให้จ่าสิบตำรวจสังวาลย์ พงษ์พันธ์และเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมไปด้วยจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ของกลาง รุ่งขึ้นวันที่ 7 สิงหาคม 2527 จับจำเลยที่ 2ได้ ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงม. จนสำเร็จความใคร่คนละหลายครั้ง แล้วร่วมกันฆ่าเด็กหญิงม. โดยใช้ไม้ที่ตอกตะปูตีและใช้เชือกกล้วยรัดคอจนถึงแก่ความตาย แล้วนำศพเด็กหญิงม. ไปทิ้งไว้ที่ร่องสวนของนางเปล่งจริง ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเจ้าพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุและแสดงลักษณะอาการที่กระทำต่อเด็กหญิงม. ให้ดูและถ่ายภาพประกอบคำรับสารภาพไว้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นจำเลยที่ 2 ร่วมข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าเด็กหญิงม. ก็ดี แต่พยานแวดล้อมของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นล้วนแต่เห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับการตายและการพบศพของเด็กหญิงม. ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ก็มิได้กระทำต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามลำพัง ยังมีนายภุชงค์รุ่งโรจน์ นายอำเภอบางปลาม้าในขณะนั้นรู้เห็นอยู่ด้วย นายภุชงค์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 รับสารภาพด้วยความสมัครใจดังคำเบิกความของพันตำรวจตรีสุทิน เทพรักษ์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้สอบสวนจำเลยที่ 2 ไว้ และนายภุชงค์ก็ยังร่วมไปดูจำเลยที่ 2 นำชี้ที่เกิดเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายภาพไว้ประกอบคำรับสารภาพซึ่งจำเลยที่ 2 ได้กระทำด้วยความสมัครใจเช่นกัน คำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 มีรายละเอียดแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 อย่างชัดแจ้ง ไม่มีร่องรอยพิรุธให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รับสารภาพโดยความไม่สมัครใจหรือกุเรื่องที่ไม่เป็นความจริงขึ้นมาเอง หรือพนักงานสอบสวนแสร้งปั้นแต่งแต่ประการใด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังเชื่อเป็นความจริงได้ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2527 ตลอดทั้งวันจำเลยที่ 2 อยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาตลอดเวลาจนถึงเวลากลางคืนติดต่อกับคืนวันที่ 6 สิงหาคม 2527โดยไม่ได้ออกไปจากบ้านเลย ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นคำปฏิเสธแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นกิจจะลักษณะที่หนักแน่นพอเชื่อถึงขนาดจะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์เป็นการจงใจใส่ร้ายจำเลยโดยปราศจากความจริง ปัญหาเรื่องเส้นขนของลับที่เก็บได้จากกางเกงในของเด็กหญิงม. ที่จำเลยโต้เถียงว่า เส้นขนที่หลุดออกเองจะไม่มีรากของเส้นขนติดอยู่ แต่ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกกิตติ ฉัตตะพานิช พยานโจทก์ผู้ตรวจพิสูจน์ว่าเส้นขนของกลางทั้งหมดที่ส่งมาให้ตรวจนั้นเป็นเส้นขนที่มีรากทุกเส้นก็ดี แต่ยังถือเป็นเหตุสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำผิดหาได้ไม่ เพราะพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยข้อนี้เป็นการตรวจพิสูจน์ตามหลักวิชาการแต่ตามลักษณะแห่งบาดแผลและลักษณะสภาพของเด็กหญิงม. ทำให้เห็นว่าเด็กหญิงม. ถูกทำร้ายอย่างรุนแรงและเกิดมีการต่อสู้ขัดขืนของเด็กหญิงม. เป็นอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้เส้นขนหลุดออกโดยมิใช่หลุดออกเองอย่างธรรมดาตามที่จำเลยที่ 2 โต้เถียงก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นฟังหนักแน่นดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ความสงสัยในเรื่องเส้นขนจึงไม่มีเหตุที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์จนสิ้นเชิงได้ โดยเหตุนี้ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ข่มขืนกระทำชำเราแล้วฆ่าเด็กหญิงม. ดังโจทก์ฟ้องจริง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าผู้ตายว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา277 ตรี และมาตรา 289 นั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 277 ตรี มิใช่บทความผิดเป็นบทที่ลงโทษให้หนักขึ้นแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคสอง ความผิดตามมาตรา 276 และมาตรา 289 ก็มีหลายวรรคทั้งมาตรา 277 ตรี ก็เป็นบทลงโทษที่มีหลายอนุมาตรา จึงเห็นควรแก้เสียให้ถูกต้องและชัดเจน โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ให้ลงโทษตามมาตรา 277 ตรี (2)และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), (5) และ (7) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share