คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1061/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ยื่นคำร้องขอจับจองที่ดินในระหว่างระยะเวลาที่พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 บังคับไว้ เมื่อมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้ ผู้นั้นก็มิได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้คำรับรองว่าที่ดินได้ทำประโยชน์แล้วในกำหนด 180 วันนับแต่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับตามมาตรา 7 วรรคสองถือว่าที่ดินนั้นปลอดจากการจับจอง ผู้นั้นเข้าครอบครองที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 มาตรา 15 ก็ดีประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 32 ก็ดี ย่อมให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาออกคำสั่งบังคับให้ผู้ครอบครองที่ดินนั้นออกไปจากที่ดินได้อยู่
นายอำเภอได้ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่มาตรา 122และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2495 มาตรา 40 ให้ผู้ที่เข้าครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินออกไปจากที่ดินได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2-3 ได้ทำการขัดขวางการรอนสิทธิของโจทก์ โดยมีคำสั่งเป็นหนังสือห้ามและขับไล่โจทก์ไม่ให้เกี่ยวข้องในที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 2 สีแดงอันเป็นที่ดินของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้จับจองตั้งแต่ พ.ศ. 2489 และได้รับใบเหยียบย่ำโดยชอบ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของโดยความสงบและเปิดเผยตลอดมาร่วม 10 ปีแล้ว อนึ่งในระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2502 จำเลยที่ 3 บังอาจทำการรังวัดปักหลักเขตในที่นารายนี้โดยอ้างว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยที่ 1 ได้สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันและได้ประกาศสงวนหวงห้ามไว้ให้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์พาหนะ ชื่อว่าทำเลเลี้ยงสัตว์ “ป่ากะกม” ความจริงหาใช่ทำเลเลี้ยงสัตว์พาหนะไม่ ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ กับขอให้ห้ามและขับไล่จำเลยและบริวารมิให้เกี่ยวข้อง กับบังคับให้จำเลยถอนหลักซึ่งจำเลยที่ 3 ปักไว้ กับขอให้คำสั่งของจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ

จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแม้ว่าโจทก์เคยขอจับจองและเจ้าพนักงานอนุญาตไป ก็เป็นการเข้าใจผิด เพราะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งไม่มีกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกาโอนที่ดินนี้ให้แก่โจทก์ได้ หากโจทก์เคยขอใบเหยียบย่ำมาครั้งหนึ่ง โจทก์ก็มิได้ทำประโยชน์ภายใน 2 ปีใบเหยียบย่ำจึงขาดอายุ อีกประการหนึ่ง โจทก์ไม่เคยขอคำรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินรายนี้ต่ออำเภอภายใน 180 วัน ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานคู่ความและพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้อง คำให้การและรายงานพิจารณาที่โจทก์แถลงต่อศาลว่า โจทก์มิได้เคยยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับคำรับรองว่าได้ทำประโยชน์ในที่พิพาทภายในกำหนด 180 วันตามประมวลกฎหมายที่ดินบังคับไว้ คดีของโจทก์ก็ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 7 วรรคสองถือว่าที่ดินนั้นปลอดจากการจับจอง พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 มาตรา 15 ก็ดี ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 32 ก็ดี ย่อมให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาออกคำสั่งบังคับให้ผู้ครอบครองที่ดินนั้น ๆ ออกไปจากที่ดินได้อยู่ จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกไปจากที่ที่พิพาทนี้ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน พ.ศ. 2495 คำสั่งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการชอบกฎหมาย

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share