คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยยืนยันว่า เดิมที่ดินพิพาท เป็นของบิดามารดาของสามีจำเลย บุคคลดังกล่าวได้ยกให้แก่ จำเลยและสามีจำเลยครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา โดยจำเลย ไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ คดีจึงไม่อาจมีประเด็น ข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเพราะการแย่ง การครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่จำเลย ครอบครองเองจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดิน พิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้อง เอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง หรือไม่ หรือโจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาท หรือไม่ เพราะประเด็นนี้ขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยได้ให้การ และฟ้องแย้งไว้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยได้รับการยกให้ จากบิดามารดาของสามีจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 369 ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายคง ศรีรักษา บิดาโจทก์ ขณะที่นายคงมีชีวิตอยู่ได้อนุญาตให้นายผัด ตั้งจิตต์ ปลูกบ้านอยู่อาศัยบริเวณทางด้านทิศใต้ซึ่งติดกับคลอง ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2537 นายผัดถึงแก่ความตาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารซึ่งอาศัยในที่ดินโดยอาศัยสิทธิของนายผัดออกจากที่ดินของโจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายรื้อถอนทรัพย์สินออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 369 ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช และส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายรื้อถอนทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายผัด ตั้งจิตต์ สามีจำเลยโดยได้รับการยกให้จากบิดามารดาต่อมาประมาณปี 2502 นายผัดและจำเลยได้แบ่งขายที่ดินทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 5 ไร่ ให้แก่นายคง ศรีรักษา ปู่ ของโจทก์ ส่วนที่เหลืออีก 3 ไร่ นายผัดและจำเลยล้อมรั้วทั้งสี่ด้านโดยครอบครองทำประโยชน์โดยมีเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิครอบครอง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินภายในกรอบเส้นสีแดงแรเงาสีน้ำเงินตามรูปแผนที่ท้ายคำให้การเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองดีกว่าโจทก์ กับให้โจทก์นำต้นฉบับ น.ส.3 ก. เลขที่ 369 เลขที่ดิน 48 หมู่ที่ 5 ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยและแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่จำเลยครอบครองให้แก่จำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอปากพนัง หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาและหากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนที่ดิน น.ส.3 ก. ฉบับเลขที่ 369 ดังกล่าว เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่และห้ามโจทก์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 369 ตำบลคลองกระบืออำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นของโจทก์นายคง ศรีรักษา เจ้าของที่ดินเดิมได้อนุญาตให้นายผัดอาศัยอยู่ตลอดชีวิตของนายผัด หลังจากนายผัด ถึงแก่ความตายจำเลยซึ่งอาศัยสิทธิของนายผัด จึงไม่มีสิทธิใดอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายรื้อถอนทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 369 ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายรื้อถอนทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายคง ศรีรักษา ปู่ ของโจทก์มีชื่อเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 369 ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชเนื้อที่ดิน 7 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา ตามสำเนา น.ส.3 ก.เอกสารหมาย จ.3 โดยนายคงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากผู้ครอบครองเดิมขณะที่ซื้อนั้นที่ดินที่ซื้อยังไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์และในขณะที่นายคงซื้อที่ดินดังกล่าวได้มีนายผัด ตั้งจิตต์ สามีจำเลยและจำเลยอยู่ในที่ดินก่อนที่นายคงจะซื้อ เมื่อนายคงซื้อแล้วจำเลยและสามีจำเลยคงอยู่ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาโดยอยู่ในที่ดินพิพาททางด้านทิศตะวันออกของที่ดิน น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3 ตามกรอบสีแดงระบายด้วยเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 จำนวนเนื้อที่ดินประมาณ 3 ไร่ เมื่อนายคงถึงแก่ความตาย นางจัด บัวนวล บุตรสาวนายคงเป็นผู้จัดการมรดกของนายคง ได้โอนที่ดินตาม น.ส.3 ก.เอกสารหมาย จ.3 รวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะเป็นทายาทของนายคง ต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2535 นางจัดได้จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหลาน ตามสำเนา น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3 เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินแล้ว โจทก์ได้ขุดดินเพื่อเพาะปลูกและขุดบ่อปลาในที่ดินพิพาทเป็นเหตุให้ต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินพิพาทเสียหายจำเลยได้แจ้งความไว้ต่อนายเพี้ยนผู้ใหญ่บ้าน นายประสิทธิ์ กำนันและเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพนัง ต่อมาในปี 2537 สามีจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยคงอยู่ในที่ดินพิพาทจนถึงปัจจุบัน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ในปัญหานี้เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ที่ดินตามหนังสือ น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3 รวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นของนายคงที่ซื้อมาจากนายเหล็ก และนายคงได้ให้สามีจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทจนกว่าสามีจำเลยจะถึงแก่ความตายเมื่อโจทก์ได้รับที่ดินพิพาทมาได้ให้สามีจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจนกว่าสามีจำเลยจะถึงแก่ความตาย ส่วนพยานหลักฐานจำเลยคงมีแต่ตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ เท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3ซึ่งนายคงซื้อมาจากนายเหล็กและนายคงได้ให้สามีจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทจนกว่าสามีจำเลยจะถึงแก่ความตาย เชื่อว่านายคงได้รับหนังสือ น.ส.3 ก. แล้ว ต่อมานายคงถึงแก่ความตายที่ดินตาม น.ส.3 ก. พร้อมที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ตกทอดแก่นางจัด และนางจัดได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์โจทก์ได้ให้สามีจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาทหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยฎีกากล่าวอ้างว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากพยานโจทก์จำเลยว่าเมื่อปี 2536 จำเลยได้แสดงอย่างชัดแจ้งต่อหน้าโจทก์ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลย เมื่อโจทก์ยืนยันว่าเป็นผู้มีสิทธิตาม น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.3 ว่าเป็นของโจทก์พร้อมกับให้จำเลยทำสัญญาเช่าแต่จำเลยไม่ยอมทำสัญญาเช่าและไม่ออกจากที่ดินพิพาทจะเอาที่ดินพิพาททั้งหมด ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกเอาที่ดินคืนภายในกำหนด 1 ปี แต่โจทก์ไม่ฟ้องภายในกำหนด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า จำเลยได้ให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 369 เป็นที่ดินมือเปล่าบิดามารดานายผัด ตั้งจิตต์ สามีจำเลยเป็นเจ้าของครอบครองทำประโยชน์ เมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว บิดามารดาของสามีจำเลยได้ยกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่สามีจำเลยและจำเลยปี 2502 จำเลยและสามีจำเลยได้แบ่งขายที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ให้แก่นายคง ศรีรักษา ปู่ ของโจทก์ที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยและสามีจำเลยได้ทำรั้วล้อมรอบไว้ทั้งสี่ด้านซึ่งเป็นที่ดินพิพาท จำเลยและสามีจำเลยได้ทำประโยชน์เจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา การที่นายคงแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของนายคงให้เจ้าพนักงานที่ดินออกหลักฐานหนังสือ น.ส.3 ก. เลขที่ 369 ให้แก่นายคงจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีโจทก์ขาดอายุความโดยฟ้องคดีเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิและแย่งการครอบครองเมื่อประมาณ 2-3 ปี มาแล้วนั้น คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยล้วนแต่กล่าวอ้างยืนยันว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาของสามีจำเลย บิดามารดาของสามีจำเลยได้ยกให้แก่จำเลยและสามีจำเลยครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา โดยจำเลยไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายคงหรือของโจทก์ เพราะจำเลยกล่าวอ้างว่านายคงได้รับหนังสือ น.ส.3 ก.ในส่วนที่ดินพิพาทโดยมิชอบตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย จึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทที่จำเลยล้อมรั้วไว้ได้เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่จำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสองหรือไม่ หรือโจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาทหรือไม่ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นนี้ไว้เพราะประเด็นนี้จะขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยได้ให้การและฟ้องแย้งไว้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยได้รับการยกให้จากบิดามารดาของสามีจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิม การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ”
พิพากษายืน

Share