คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5)เป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเป็น เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงด้วยว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 14 โดยคำนึงถึงเหตุอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่าจำเลย ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจริง เดิมศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 170,784 บาทแก่โจทก์คดีถึงที่สุด แต่โจทก์ไม่สามารถสืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) ซึ่งโจทก์นำสืบให้เห็นแต่เพียงว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินในเขตจังหวัดนนทบุรีและไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ แต่หานำสืบให้เห็นด้วยว่าในเขตจังหวัดนครสวรรค์จำเลยก็ไม่มีทรัพย์สินเช่นเดียวกัน อีกทั้งเหตุที่โจทก์อ้างเป็นเหตุฟ้องจำเลยให้ล้มละลายนี้สืบเนื่องจากกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้โดยโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่น สนับสนุนหรือนำมาประกอบให้เพียงพอที่จะแสดงหรือพิสูจน์ ให้เห็นได้เป็นข้อสำคัญว่า จำเลยไม่มีความสามารถชำระหนี้ หรือเป็นบุคคลตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นลูกหนี้บุคคลอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 170,784 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยมิได้ชำระหนี้ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินพึงยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์สืบหาทรัพย์ของจำเลยไปยังส่วนราชการต่าง ๆ ของจังหวัดนนทบุรี ปรากฏว่าไม่มีทรัพย์สินที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2536ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 170,784 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาทแก่โจทก์คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่ชำระเงินให้โจทก์วันที่ 22 สิงหาคม 2537 โจทก์ขอหมายบังคับคดี แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินจะพึงยึดมาชำระหนี้ โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เห็นว่าการพิจารณาคดีล้มละลายมีลักษณะพิเศษและแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญทั่ว ๆ ไป เนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายคดีนี้แม้จำเลยจะไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาก็ตามกฎหมายให้อำนาจศาลต้องพิจารณาเอาความจริงให้ปรากฏตามมาตรา 14 ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายด้วยหรือไม่ข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายสุวัฒน์ ปิ่นนิกร พยานโจทก์ว่าเมื่อศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 170,784 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2536 และโจทก์ได้ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แล้วแต่โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยให้เขตจังหวัดนนทบุรี ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์สินของจำเลยที่พอจะยึดมาชำระหนี้ได้ ส่วนบ้านเลขที่ 144/41 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่อยู่ในเขตศาล ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแพ่งปรากฏว่านางสาวศิริพันธ์ บัณฑิตย์ เป็นเจ้าบ้านมาตั้งแต่วันที่16 สิงหาคม 2522 ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยมาอาศัยอยู่ ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยยังมิได้ชำระเงินคืนให้โจทก์และจำเลยยังไม่มีทรัพย์สินอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรีในเบื้องต้นเท่านั้นนายสุวัฒน์พยานโจทก์มิได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกในเขตที่ลูกหนี้หรือจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีนี้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) ที่บัญญัติว่า”ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีหรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้” ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเป็นเพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลายได้เท่านั้นส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงด้วยว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10และมาตรา 14 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยคำนึงถึงเหตุอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะดังกล่าวจริงเมื่อโจทก์นำสืบให้เห็นแต่เพียงว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินในเขตจังหวัดนนทบุรี และไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์แต่หาได้นำสืบให้เห็นด้วยว่าในเขตจังหวัดนครสวรรค์จำเลยไม่มีทรัพย์สินเช่นเดียวกันอีกทั้งเหตุที่โจทก์อ้างเป็นเหตุฟ้องจำเลยให้ล้มละลายนี้สืบเนื่องมาจากกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ทางนำสืบของโจทก์คงมีนายสุวัฒน์ พยานโจทก์เพียงปากเดียวและกล่าวอ้างโดยเลื่อนลอยว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ โดยไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนหรือนำมาประกอบให้เพียงพอที่จะแสดงหรือพิสูจน์ให้เห็นได้เป็นข้อสำคัญว่าจำเลยไม่มีความสามารถชำระหนี้หรือเป็นบุคคลตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินแล้วทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นลูกหนี้บุคคลอื่นข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share