คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 โดยไม่โอนขายให้โจทก์ก่อนตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมเป็นการทำนิติกรรมทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบนั้นด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากบิดาของจำเลยที่ ๑ เพื่อทำนาติดต่อกันมาประมาณ ๓๐ ปี เมื่อบิดาจำเลยตายจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับมรดกต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ จะขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้อื่น โจทก์ประสงค์จะเช่าต่อไปหรือถ้าจำเลยที่ ๑ จะขายโจทก์ก็จะซื้อ โจทก์จึงได้ร้องต่อนายอำเภอเมืองอุทัยธานีแล้วโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้านายอำเภอว่าจำเลยที่ ๑ จะทำนาเอง และโจทก์ยินดีเลิกการเช่า หากจำเลยที่ ๑ จะขายที่ดินดังกล่าวต้องขายให้โจทก์ก่อนในราคาเท่ากับที่จะขายให้คนอื่นโดยแจ้งให้โจทก์ตอบรับซื้อภายใน ๓๐ วัน ถ้าโจทก์ไม่ซื้อจะขายให้ผู้อื่นได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยไม่สุจริต และไม่แจ้งให้โจทก์มีโอกาสซื้อก่อนทั้ง ๆ ที่โจทก์พร้อมจะซื้อ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รู้อยู่แล้วว่าโจทก์เช่าทำนาในที่ดินแปลงนี้มาก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลย และทำนิติกรรมขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ในราคาเท่ากับที่จำเลยที่ ๑ ขายให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยแล้วให้จำเลยที่ ๑ โอนขายให้โจทก์ในราคาเท่ากับที่ขายให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์เคยเช่านาพิพาทจริงแต่โจทก์ตกลงเลิกเช่าแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้เข้าทำนาเอง และขายให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในเวลาต่อมา โดยก่อนขายได้แจ้งให้โจทก์ทราบด้วยวาจาและเป็นหนังสือว่าจำเลยที่ ๑ จะขายที่ดินพิพาทแก่ผู้อื่นในราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาทให้โจทก์ตอบรับภายใน ๓๐ วันตามข้อตกลง แต่โจทก์ไม่ซื้อเพราะไม่มีเงินจำเลยที่ ๑ จึงขายให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตามราคาที่บอกขายโจทก์อันเป็นการกระทำโดยสุจริตและถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริต ขณะที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซื้อที่ดินรายพิพาท โจทก์มิได้เป็นผู้เช่านาจากจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยไม่บอกขายที่พิพาทให้โจทก์ก่อนเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงสิทธิของโจทก์อยู่ก่อนแล้วแต่สมรู้กับจำเลยที่ ๑ ฉ้อฉลโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วให้จำเลยที่ ๑ โอนขายแก่โจทก์ในราคาเท่ากับที่ขายให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หากจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถจัดการได้ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขอของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ ประสงค์จะขายที่ดินพิพาทก็มีหน้าที่ที่จะต้องขายให้โจทก์ก่อน โดยแจ้งให้โจทก์ตอบรับซื้อภายใน ๓๐ วัน ต่อเมื่อโจทก์ไม่ซื้อจำเลยที่ ๑ จึงจะมีสิทธิขายให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้บอกขายที่รายพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ ๑ ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องงดเว้นไม่ขายที่รายพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทราบดีว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซื้อจากจำเลยที่ ๑ โจทก์เคยเช่าทำนามาก่อนและโจทก์ยอมเลิกการเช่าที่พิพาทกับจำเลยที่ ๑เพราะได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๑ โอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ ย่อมเป็นการทำนิติกรรมทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗และเมื่อโจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะรับซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ ๑ ในราคาเท่ากับที่จำเลยที่ ๑ ขายให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ โอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้
พิพากษายืน.

Share