คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5525/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยตกลงกันใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ และโจทก์นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสินชี้ขาดแล้ว ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทไปอย่างไรก็จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยไปตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิใช่ผูกพันกันตามสัญญาเดิม ตราบใดที่คณะอนุญาโตตุลาการยังไม่มีคำชี้ขาดย่อมไม่อาจถือได้ว่าหนี้ตามสัญญานั้นเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ยังฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 9 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้ลูกหนี้จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมากกว่า 1,000,000 บาท แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาดังกล่าวและให้โจทก์ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นกรณีที่ยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาให้โจทก์ชนะคดีเป็นจำนวนเท่าใดอย่างไรหรือไม่ หนี้ที่โจทก์เอามาฟ้องคดีนี้จึงไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเพียงขั้นตอนการใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้นแม้อนุญาโตตุลาการยังไม่ได้มีคำชี้ขาดให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่มูลหนี้ค่าสมาชิกและเบี้ยปรับตามสัญญาเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้นั้น เห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยพิพาทกันตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อ ธานี (THANI) ซึ่งเดิมเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับจำเลย มีข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ 9 ว่า หากมีข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นจากการตีความหรือเกี่ยวกับหน้าที่หรือความรับผิดชอบตามสัญญานี้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะพยายามทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาระหว่างกันเองก่อน หากข้อโต้แย้งนั้นยังไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาด จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงกันใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และโจทก์ได้นำข้อพิพาทเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดแล้ว ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทไปอย่างไรก็จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยไปตามคำชี้ขาดนั้น ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิใช่ผูกพันกันตามสัญญาที่พิพาทกันอยู่นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น ตราบใดที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีคำชี้ขาดย่อมไม่อาจถือได้ว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ในระหว่างนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share