คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6851/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษนั้นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง ฯลฯ พ.ศ. 2530 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วเพราะหมดอายุ ฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ว่าการการทางพิเศษฯ กับฐานะของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงสิ้นผลลง ราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดก็ย่อมสิ้นผลไปด้วยดังนั้นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 2ทำในขณะไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่แล้ว จึงเป็นการ กระทำโดยปราศจากอำนาจและไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงต้องดำเนินการใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 4 แปลงซึ่งอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 52,240,000บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้ว แต่เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะที่ดินของโจทก์อยู่ในแหล่งชุมชนที่เจริญแล้ว มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 120,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงตารางวาละ75,000 บาท จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์52,240,000 บาท จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์อีก143,660,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 196,955,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 143,660,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดให้แก่โจทก์นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 มีอายุ 5 ปีใช้บังคับระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 15มิถุนายน 2535 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงกับโจทก์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2535ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.11 หลังจากพระราชกฤษฎีกาหมดอายุลงแล้วย่อมกระทำไปโดยไม่มีอำนาจสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ต่อมารัฐบาลจะได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปอีกก็ตามแต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไปซึ่งไม่ต่อเนื่องกับพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิม จึงไม่ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกลับมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายขึ้นมาได้แต่อย่างใดเมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทของโจทก์ไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีรวมทั้งยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25และมาตรา 26 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาในส่วนนี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่นอีกต่อไปพิพากษายกฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 55515, 55516, 55517และโฉนดเลขที่ 101810 ตำบลบางกะปิ ตำบลห้วยขวาง(สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ และอำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 แปลง รวมเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน12 ตารางวา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2530 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงเขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางวัน เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไทและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับเพื่อสร้างทางพิเศษสายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อและสายสาธร-ลาดพร้าว ซึ่งมีอายุ 5 ปี นับแต่วันที่ 16มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2535 ตามเอกสารหมาย ล.1ที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสี่แปลงอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 953/2534 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2534ตามเอกสารหมาย ล.2 กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ตารางวาละ 20,000 บาท และผู้ว่าการของจำเลยที่ 2กับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันวันที่ 20 สิงหาคม 2535ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.11อันเป็นระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหมดอายุแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.11มีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.11 เป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสาธร-ลาดพร้าว (บริเวณโรงซ่อมบำรุง) กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนและจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่จะถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขั้นตอนนี้กำหนดไว้ในมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ว่า ในระหว่างใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจตกลงซื้อขาย และกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อดำเนินการจัดซื้อและจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่อไป แต่จะให้ราคาหรือค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเกินกว่าราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดไว้ไม่ได้ และมาตรา 4 ให้คำนิยาม “เจ้าหน้าที่”หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจหรือบุคคลอื่นใดผู้กระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐซึ่งมีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.11 นั้นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วเพราะหมดอายุฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับฐานะของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงเขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไทและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เอกสารหมาย ล.1สิ้นผลลงไปด้วย และราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดย่อมสิ้นผลไปด้วย ดังนั้นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.11ซึ่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 2 ทำในขณะไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่แล้วจึงเป็นการกระทำโดยผู้ปราศจากอำนาจและไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ การดำเนินการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงต้องดำเนินการใหม่คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share