คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3387/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่ จนคดีถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้ จำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้กำหนดโทษใหม่ให้น้อยลงโดยอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) อีกไม่ได้ เพราะจะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 161,264, 266, 268, 91 และให้จำเลยใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 161, 266, 268 วรรคสอง, 90, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายบทหลายกรรมลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนัก รวม 23 กรรม เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 115 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 57 ปี 6 เดือน แต่ลงโทษจำคุกได้อย่างสูงเพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำเลยคืนเงินที่ยักยอกไปแก่ผู้เสียหาย
ต่อมาภายหลังจากคดีถึงที่สุดโดยคู่ความไม่อุทธรณ์แล้ว จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยขัดต่อกฎหมาย เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) กำหนดให้ลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 50 ปีแต่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลย 115 ปี จึงเกินไป 65 ปี ดังนั้น หากลงโทษตามกฎหมายแล้วหลังจากลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยเพียง 25 ปี จึงขอให้กำหนดโทษใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ซึ่งห้ามแก้ไขคำพิพากษาให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุดไปนานแล้ว จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่ให้น้อยลง โดยอ้างข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ดังนี้ หากศาลฟังข้อกฎหมายตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
พิพากษายืน

Share