คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของ ซ. ถูกเวนคืน เป็นเหตุให้จำเลยเสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมในที่ดินดังกล่าว ไม่ว่าจำเลยจะได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้ทางภารจำยอมนั้นแก่ ซ. หรือไม่ก็ตามจำเลยก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18(6) เนื่องจาก มาตราดังกล่าวกำหนดบุคคลที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน คือ เฉพาะบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืน ในฐานะที่เป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และบุคคลนั้นได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ซึ่งได้ถูกเวนคืนเท่านั้นมิได้หมายความรวม ถึงบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ถึงมาตรา 1401ดังกรณีของโจทก์แต่อย่างใด ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ คดีไม่จำต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 30464 ที่ถูกเวนคืนและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนำไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ จำนวน 12,250,000 บาท เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเงินค่าทดแทนดังกล่าวและห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสองรับเงินค่าทดแทนและดอกเบี้ย ให้เจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อทางภารจำยอมถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองผู้ซื้อที่ดินสามยทรัพย์มาจึงย่อมได้รับเงินค่าทดแทนเป็นค่าตอบแทนเทียบเท่าเจ้าของภารยทรัพย์หรือครึ่งหนึ่งตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยและพิพากษาให้เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 30464 ตำบลคลองตัน(ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครจำนวน 12,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดตกได้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเซ็น หวังดุลหรือหวังคุณ ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเซ็น หวังดุล หรือหวังคุณ ผู้ตาย ตามคำสั่งของศาลแพ่งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 นายเซ็นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 30464 ตำบลคลองตัน(ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2510 และวันที่ 23 กันยายน 2514 นายเซ็นได้ทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 30454 ถึง 30457 และ 30449, 30452, 30453, 44140 ตำบลคลองตัน (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ของนางทำเนียบ สืบสงวน และของนางทำเนียบกับนายเสรี สืบสงวน ตามลำดับ วันที่ 23 กันยายน 2514 นายเซ็นทำบันทึกข้อตกลงที่ดินพิพาททั้งแปลงให้เป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 30451ตำบลและอำเภอเดียวกัน ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2521นางทำเนียบได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 30454 ถึง 30457แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 29 กรกฎาคม 2519 นางทำเนียบได้โอนขายที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 30452, 30453 และ 44140 ให้แก่นายเสรีและในวันที่ 14 กรกฎาคม 2521 นายเสรีได้โอนขายที่ดินดังกล่าวและที่ดินโฉนดเลขที่ 30451 ให้แก่จำเลยที่ 1 และโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 30449 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่11 สิงหาคม 2537 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเซ็นได้รับแจ้งจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยว่า ที่ดินพิพาทถูกเวนคืนและคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนแก่ผู้มีสิทธิเป็นเงิน 12,250,000 บาท ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้นำไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ในนามของโจทก์และจำเลยทั้งสอง เนื่องจากที่ดินพิพาทตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 30449, 30451 ถึง 30457 และ 44140 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยนำไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่หรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองเสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดที่ 30464 ซึ่งถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ โดยจำเลยทั้งสองได้รับค่าทดแทนในการใช้ทางภารจำยอมแล้ว จึงชอบที่จะได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(6) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “เงินทดแทน นั้น ให้กำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ ฯลฯ
(6) บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำสายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นตามมาตรา 1349 หรือมาตรา 1352 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในกรณีที่บุคคลเช่นว่านั้นได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนแล้ว” เห็นว่า บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึง บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางผ่านที่ดินแปลงอื่นไปสู่ทางสาธารณะ เพราะที่ดินของบุคคลนั้นมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะหรือที่เรียกว่า ทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และเฉพาะกรณีที่บุคคลผู้เสียสิทธิการใช้ทางได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ซึ่งได้ถูกเวนคืนเท่านั้นมิได้หมายความถึงบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ถึงมาตรา 1401 แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30464 ของนายเซ็น หวังดุล จะถูกเวนคืนเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองเสียสิทธิในการใช้ทางภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้ทางภารจำยอมนั้นหรือไม่ก็ตามจำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18(6) ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินของจำเลยทั้งสองไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจึงจำเป็นที่จำเลยทั้งสองต้องขอใช้สิทธิในทางภารจำยอมนั้นจำเลยทั้งสองมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษาคดีไป เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นสามารถวินิจฉัยได้จากคำฟ้องของโจทก์ ส่วนปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและสิทธิในการได้รับเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้คดีก็ไม่จำต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share