คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6556/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ของกลางอันได้แก่วีดีโอเทปที่ไม่มีฉลาก จำนวน 323 ม้วน และเทปเพลงที่ไม่มีฉลากจำนวน 629 ม้วน ที่โจทก์ขอให้ริบนั้น ล้วนแต่เป็นจำพวกที่ไม่มีฉลาก อันต้องด้วยความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งในขณะเดียวกัน เฉพาะวีดีโอเทปที่ไม่มีฉลากนั้นยังเป็นทรัพย์สินที่มิได้ มีการแสดงตรา หมายเลขรหัส อันต้องด้วยความผิดตาม พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 อีกด้วย ฉะนั้น การที่โจทก์ขอให้สั่งริบของกลางทั้งสองจำพวกที่ไม่มีฉลาก โดยมิได้ขอให้สั่งริบวีดีโอเทปที่มิได้แสดงตรา หมายเลขรหัสด้วย ย่อมแสดงว่าโจทก์มีเจตนาขอให้สั่งริบของกลาง ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เท่านั้น คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ฉบับเดิมมาใช้บังคับ ซึ่งมิได้บัญญัติเกี่ยวกับ การริบของกลางไว้ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ดังที่โจทก์ขอมา แต่โดยที่ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2536) ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2536 กำหนดให้ของกลางทั้งสองจำพวก เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ประกอบกับบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 บัญญัติ ให้ลงโทษผู้ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก ย่อมแสดง ให้เห็นว่า กรณีจะเกิดเป็นความผิดตามมาตรา 52 ได้นั้น ก็เพราะเหตุที่สินค้าที่ควบคุมฉลากนั้นไม่มีฉลากนั่นเอง หาใช่เกิดจากตัวสินค้าโดยตรงไม่ ดังนั้น ของกลางทั้งสองจำพวก จึงมิใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการ กระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ส่วน ที่ โจทก์ ฎีกา ขอ ให้ ริบ ของ กลาง โดย อ้าง ว่า วีดีโอเทป ของกลาง มิได้ มี การ แสดง เจตนา หมาย เลข รหัส จึง เป็น ทรัพย์ ที่ มี ไว้ เป็น ความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 นั้น เป็น กรณี ที่ โจทก์ ขอให้ ริบ ของกลาง อัน เนื่อง มา จาก ความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือคำขอท้ายฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวางโทษปรับจำเลยก่อนที่จะลดโทษ โดยให้ ปรับจำเลยฐานนำออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย ซึ่งเทปเพลง และวีดีโอเทปที่ไม่ปิดฉลากเป็นเงินสองหมื่นบาทนั้น เป็นเรื่องข้อผิดพลาดในการพิมพ์หรือเขียน ทั้งนี้เพราะ เมื่อศาลชั้นต้นรวมค่าปรับทุกกระทงความผิดแล้วเป็นจำนวนเงิน ทั้งสิ้น 801,000 บาท ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้น วางโทษปรับถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ อ้างว่าศาลชั้นต้น รวมโทษปรับผิดและรวมโทษปรับใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 10,000 บาท นั้นจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควร แก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 4, 5, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 69, 70, 75, 76, 78พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 14, 30, 31, 52 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530มาตรา 4, 10, 36 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91ให้วีดีโอเทปที่ละเมิดลิขสิทธิ์ 10 ม้วน กับเทปเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์930 ม้วน ของกลาง ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายค่าปรับแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง ริบวีดีโอเทปที่ไม่มีฉลาก323 ม้วน เทปเพลงที่ไม่มีฉลาก 629 ม้วน และเครื่องมือที่ใช้กระทำความผิดดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31, 70 วรรคสองฐานนำวีดีโอเทป 10 ม้วน ซึ่งมีผู้ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ออกขายเสนอขาย มีไว้เพื่อขาย เพื่อการค้าปรับ 50,000 บาท ฐานนำเทปเพลงที่จำเลยทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย เพื่อการค้าจำคุก 1 ปี ปรับ 216,000 บาท ความผิดตามมาตรา 28(1),69 วรรคสอง ฐานทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยการบันทึกเสียงทำซ้ำซึ่งเทปเพลง 930 ม้วน เพื่อการค้า จำคุก 2 ปีปรับ 515,000 บาท ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. 2522 ฐานนำออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งเทปเพลงและวีดีโอเทปที่ไม่ปิดฉลาก ปรับ 20,000 บาท (ที่ถูกปรับ 10,000 บาท) ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทป(ที่ถูกปรับ 10,000 บาท) ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งวีดีโอเทปที่มิได้มีการแสดงตรา หมายเลขรหัส เพื่อการค้าในสถานที่ประกอบกิจการค้าของจำเลย ปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี ปรับ 801,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 400,500 บาท ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบวีดีโอเทปที่ไม่ปิดฉลาก 323 ม้วน เทปเพลงที่ไม่ปิดฉลาก 629 ม้วนเครื่องแอมป์ปิไฟเออร์ 2 เครื่อง เครื่องอินติเกรดแอมป์ 1 เครื่อง เครื่องบันทึกเสียง 20 เครื่อง เครื่องเป่าพลาสติก 1 เครื่อง และเครื่องรีดพลาสติก 1 เครื่อง ของกลางให้วีดีโอเทปที่ละเมิดลิขสิทธิ์ 10 ม้วน และเทปเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์930 ม้วน ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายค่าปรับแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยรวม 811,000บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงปรับ 405,500 บาท ไม่ริบวีดีโอเทปที่ไม่ปิดฉลาก 323 ม้วนและเทปเพลงที่ไม่ปิดฉลาก 629 ม้วน ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าของกลางอันได้แก่วีดีโอเทปที่ไม่มีฉลาก จำนวน 323 ม้วนและเทปเพลงที่ไม่มีฉลากจำนวน 629 ม้วน ที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบนั้น จะริบได้หรือไม่เพียงใด ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าของกลางทั้งสองจำพวกที่โจทก์ขอให้ริบนั้นล้วนแต่เป็นจำพวกที่ไม่มีฉลาก อันต้องด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งในขณะเดียวกันเฉพาะวีดีโอเทปที่ไม่มีฉลากนั้นยังเป็นทรัพย์สินที่มิได้มีการแสดงตรา หมายเลขรหัส อันต้องด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 อีกด้วย ฉะนั้นการที่โจทก์ขอให้สั่งริบของกลางทั้งสองจำพวกที่ไม่มีฉลาก โดยมิได้ขอให้สั่งริบวีดีโอเทปที่มิได้แสดงตรา หมายเลขรหัสด้วยเช่นนี้แสดงว่าโจทก์มีเจตนาขอให้สั่งริบของกลางในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เท่านั้นคดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ฉบับเดิมมาใช้บังคับ ซึ่งมิได้บัญญัติเกี่ยวกับการริบของกลางไว้แต่อย่างใด กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ดังที่โจทก์ขอมา โดยที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2536) ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2536กำหนดให้ของกลางทั้งสองจำพวกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากประกอบกับบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 บัญญัติให้ลงโทษผู้ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก ย่อมแสดงให้เห็นว่า กรณีจะเกิดเป็นความผิดตามมาตรา 52 ได้นั้น ก็เพราะเหตุที่สินค้าที่ควบคุมฉลากนั้นไม่มีฉลากนั่นเอง หาใช่เกิดจากตัวสินค้าโดยตรงไม่ ดังนั้นของกลางทั้งสองจำพวกจึงมิใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ริบของกลางโดยอ้างว่าวีดีโอเทปของกลางมิได้มีการแสดงตราหมายเลขรหัสจึงเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 นั้น เห็นได้ว่าเป็นกรณีขอให้ริบของกลางอันเนื่องมาจากความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือคำขอท้ายฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประการต่อมา โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่งระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวางโทษปรับจำเลยก่อนที่จะลดโทษ โดยให้ปรับจำเลยฐานนำออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งเทปเพลงและวีดีโอเทปที่ไม่ปิดฉลากเป็นเงินสองหมื่นบาทนั้น น่าจะเป็นเรื่องข้อผิดพลาดในการพิมพ์หรือเขียนมากกว่า ทั้งนี้เพราะเมื่อศาลชั้นต้นรวมค่าปรับทุกกระทงความผิดแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น801,000 บาท ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นวางโทษปรับถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่าศาลชั้นต้นรวมโทษปรับผิดและรวมโทษปรับใหม่เพิ่มขึ้นอีก 10,000 บาทนั้นจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยรวม 801,000 บาทลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 400,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share