คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11427/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 26 บัญญัติว่า พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัย นั้น หมายความว่าคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้นต้องเป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ลักษณะ 2 เรื่อง ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม ซึ่งตามกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าว ข้อ 7 มีความว่า การลงนิคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ถ้าความผิดนั้นเกิดขึ้นในเขตจังหวัดที่สังกัดอยู่ ให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณา การที่คดีนี้เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พิจารณาลงโทษโดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องที่ทำให้เจ้าคณะตำบลเปือยใหญ่ไม่อาจเป็นผู้พิจารณาได้ จึงไม่เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 คำวินิจฉัยของเจ้าคณะจังหวัดจึงไม่ใช่คำวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แม้จำเลยจะทราบคำสั่งและไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 5 ทวิ, 26, 43 นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 425/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 26, 43 ลงโทษจำคุก 6 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบอธิกรณ์จำเลยตามคำสั่งที่ 3/2541 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอธิกรณ์ โดยมีพระกิตติญาณโสภณ รองเจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานกรรมการ และพระครูเป็นกรรมการอีก 7 รูป คณะกรรมการสอบสวนแล้วเชื่อว่าจำเลยเสพเมถุนกับนางสาวลัดดา เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นจึงมีคำสั่งให้จำเลยพ้นจากความเป็นพระภิกษุต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง และมีคำสั่งถอดถอนจำเลยออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2541 ตามคำวินิจฉัยและคำสั่งของเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นและเจ้าหน้าที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นให้นำคำวินิจฉัยและคำสั่งแจ้งไปให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมสึกและมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนอธิกรณ์จึงเป็นที่สุดตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ข้อที่ 40 (1)
มีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คณะผู้พิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้นที่เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นแต่งตั้ง ไม่มีพระภิกษุรูปใดทำหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ข้อ 28 เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 26 บัญญัติว่า พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัย หมายความว่า คำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้นต้องเป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ลักษณะ 2 เรื่อง ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าอาวาสวัดสะอาดบุญญาราม ตำบลเปือยใหญ่ กิ่งอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ถูกนายวีระศักดิ์ กล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัย ซึ่งตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ข้อ 7 มีข้อความว่า การลงนิคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (2) เจ้าอาวาส (ก) ถ้าความผิดนั้นเกิดขึ้นในเขตจังหวัดที่สังกัดอยู่ ให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณา ส่วนในกรณีไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น ให้เป็นอำนาจของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัด กรณีของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าอาวาสถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยจึงต้องเป็นอำนาจของเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณา โดยมีคณะผู้พิจารณาชั้นต้นประกอบด้วยเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัด ทั้งข้อ 15 ระบุว่า เมื่อมีผู้กล่าวหาบอกกล่าวการกระทำความผิดของพระภิกษุ โดยยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือต่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะเจ้าสังกัดหรือเจ้าคณะเจ้าของเขตในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้นซึ่งเป็นผู้พิจารณามีอำนาจลงนิคหกรรมตามที่กำหนดไว้ในลักษณะ 2 แล้วแต่กรณี ดังนั้น การที่เจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ซึ่งมีพระครูจันทรสารประสิทธิ์ เจ้าคณะอำเภอบ้านไผ่ พระครูประสิทธิ์ปัญญาภรณ์ รองเจ้าคณะอำเภอบ้านไผ่ พระครูสุมนพัฒนกิจ เจ้าคณะตำบลเปือยใหญ่ เป็นคณะผู้พิจารณาชั้นต้นจึงถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ข้อ 7 (2) ก แม้จะมีรองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานกรรมการและเจ้าคณะตำบลอื่นเป็นคณะกรรมการด้วยก็ตาม ก็หาขัดกับกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวไม่ แต่เนื่องจากอำนาจในการลงนิคหกรรมสำหรับเจ้าอาวาสเป็นอำนาจของเจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณา การที่คดีนี้เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พิจารณาลงโทษโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องที่ทำให้เจ้าคณะตำบลเปือยใหญ่ไม่อาจเป็นผู้พิจารณาได้ จึงไม่เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ทั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 5 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา 4 บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ฯ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใดซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใด หรือหลายรูปร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้ แม้จะปรากฏตามคำวินิจฉัยเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นว่า เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งในเรื่องนี้โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 15 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2541) แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏว่า กฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวมีอยู่อย่างไร ดังนั้นเมื่อกฎมหาเถรสมาคมกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เจ้าคณะตำบลเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาการลงนิคหกรรมเกี่ยวกับพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ในตำแหน่งเจ้าอาวาส คำวินิจฉัยของเจ้าคณะจังหวัดจึงมิใช่คำวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แม้จำเลยจะได้รับทราบคำสั่งและมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share