แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนตาม พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครอบชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้โอนขายโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาท ให้โจทก์ที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตจาก อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ให้ทำกินถึง 3 ปี โจทก์ทั้งสอง ซึ่งได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริง นับแต่ซื้อตลอดมาย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวน การครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้เมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำละเมิดเป็นเหตุให้ต้นข้าวที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปลูกไว้ในที่ดินพิพาทต้องเสียหายนับได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกรบกวนสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า 1 แปลง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 โดยใช้รถไถนาไถทำลายต้นข้าวที่โจทก์ทั้งสองปลูกไว้เป็นเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 53,260 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของรัฐที่จัดสรรให้แก่ประชาชนและอยู่ในอำนาจปกครองของนิคมสร้างตนเองตากฟ้า ที่อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์อนุญาตให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมเป็นผู้เข้าทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา โจทก์ทั้งสองบุกรุกไถนาของจำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปและให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 42,000 บาท
โจทก์ทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองตากฟ้าจริง แต่ไม่สามารถจัดสรรได้เนื่องจากมีราษฎรเข้าทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วจึงให้ราษฎรครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมาและสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนมือกันได้ ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนางสมศรี พรมมล ต่อมา นางสมศรีขายให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ต่อมา ปี 2536 โจทก์ที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้วโจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์จนถึงปัจจุบัน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,500 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ซึ่งศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238 คดีได้ความว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองตากฟ้า โจทก์ที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ทั้งสองร่วมกันครอบครองปลูกข้าวในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดเป็นเหตุให้ต้นข้าวที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปลูกไว้ต้องเสียหาย ปัญหาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเดิมจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 (ที่ถูกเป็นโจทก์ที่ 1) แล้วจำเลยที่ 1 เช่าทำนาต่อมานั้น สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมาย และไม่อาจถือว่าผู้ครอบครองอยู่มีสิทธิดีกว่าดังเช่นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 เพราะที่ดินพิพาทตกอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 และ 15 ดังนั้น ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ทั้งสองครอบครองอยู่ ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 1 จนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1ก็ได้โอนขายโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1ตั้งแต่ปี 2529 ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ให้ทำกินถึง 3 ปี โจทก์ทั้งสองซึ่งได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริงนับแต่ซื้อตลอดมาย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำละเมิดเป็นเหตุให้ต้นข้าวที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปลูกไว้ในที่ดินพิพาทต้องเสียหาย นับได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกรบกวนสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่ตรงกับรูปเรื่องในคดีนี้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน