คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้เป็นเวลา 5 ปีโดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยไว้เป็นเวลา 1 ปี แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยโดยไม่รอการกำหนดโทษซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษปรับจำเลยเพียงกระทงละไม่เกิน 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,295, 391, 83, 91 จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295ประกอบด้วยมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 358อีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 1 ให้ลงโทษเรียงกระทง เมื่อได้คำนึงถึงสภาพความผิดแล้ว เห็นควรรอการกำหนดโทษจำเลยทั้งสามไว้เป็นเวลา5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยทั้งสาม ห้ามจำเลยทั้งสามประพฤติในทางเป็นผู้ก่อให้เกิดการวิวาทขึ้นอีก ให้จำเลยทั้งสามมารายงานตัวต่อรองจ่าศาลประชาสัมพันธ์เดือนละครั้งเป็นเวลา 1 ปีจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แต่จำเลยที่ 4 อายุไม่เกิน 14 ปี ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 ปรับคนละ 2,000 บาทและจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ปรับ 2,000บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท ไม่คุมความประพฤตินอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไว้เป็นเวลา 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติของจำเลยทั้งสามไว้เป็นเวลา 1 ปีแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามโดยไม่รอการกำหนดโทษซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามเพียงกระทงละไม่เกิน 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้อง เป็นฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานโดยการเถียงข้อเท็จจริงอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3

Share