คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9206/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัท ว.คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความฟ้องเรียกเอาค่าจ้างทำของจากจำเลยซึ่งมีกำหนด 5 ปี จำเลยจึงยังไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ ต่อมาจำเลยได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องไป โดยไม่อิดเอื้อน และโจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากคดีขาดอายุความแล้วจำเลยจึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2523 บริษัทวี เอ เอส จำกัดซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์สาขาคลองเตยประเภทเงินกู้ชั่วคราวได้กู้เงินจากโจทก์รวม 3 ครั้ง ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีรวมเป็นเงิน 1,032,000 บาท ในการที่บริษัทวี เอ เอส จำกัดทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ทั้ง 3 ครั้งนั้น ได้มอบหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทวี เอ เอส จำกัด กับจำเลยฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523 รวม 2 ฉบับ ให้ไว้แก่โจทก์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ สิทธิเรียกร้องตามหนังสือทั้ง 2 ฉบับสืบเนื่องจากบริษัทวี เอ เอส จำกัด ทำสัญญารับจ้างจำเลยซ่อมติดตั้งเครื่องทำความเย็นห้องเย็น อสร. ที่อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี รวม 2 ฉบับ โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อบริษัททวี เอ เอส จำกัด ส่งมอบงานให้แก่จำเลยและคณะกรรมการได้ตรวจรับมอบงานถูกต้องแล้ว จำเลยจะจ่ายเงินให้ตามสัญญารวม 3 งวด ตามสัญญาฉบับแรกเป็นเงินรวม 1,780,000 บาท ฉบับที่สองเป็นเงินรวม 790,000 บาท และโจทก์ตกลงยอมรับโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทั้ง 2 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,570,000 บาทเมื่อโจทก์ตกลงยอมเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้วบริษัททวี เอ เอส จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยในฐานะเป็นคู่สัญญาและเป็นผู้ต้องจ่ายเงินเพื่อให้รับทราบว่าสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่พึงเกิดขึ้นตามสัญญาของบริษัทวี เอ เอส จำกัด ได้โอนเป็นของโจทก์สาขาคลองเตย แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2526(ที่ถูก 2523) จำเลยมีหนังสือตอบรับมาถึงโจทก์และบริษัทวี เอ เอส จำกัด ว่าไม่ขัดข้องและยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้อง ปรากฏว่าเมื่อบริษัทวี เอ เอส จำกัด ดำเนินการซ่อมติดตั้งเครื่องทำความเย็นให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้วจำเลยซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างแต่ละงวดทั้งหมดดังกล่าวให้แก่โจทก์ผิดสัญญา โดยจำเลยชำระเงินค่าจ้างตามงวดสัญญาจ้างทั้ง 2 ฉบับ ให้แก่บริษัทวี เอ เอส จำกัด ไปทั้งหมดทำให้โจทก์ไม่สามารถที่จะรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 2,570,000 บาทแก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือไปยังจำเลยเพื่อขอแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ดังกล่าวกับสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแทนบริษัทวี เอ เอส จำกัดเป็นเงิน 570,843 บาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยยังเป็นหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์จำนวน 1,999,157 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,267,400.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,999,157 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างทั้งหมดของบริษัทวี เอ เอส จำกัด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2523 ซึ่งเป็นเงินค่าจ้างที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาที่แน่นอนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 30 มิถุนายน 2532 คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,999,157 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทวี เอ เอสจำกัด เป็นลูกหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 1,032,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2523 จำเลยได้ว่าจ้างบริษัทวี เอ เอสจำกัด ซ่อมเครื่องทำความเย็นตามสัญญา 2 ฉบับ ฉบับแรกค่าจ้าง1,780,000 บาท ฉบับที่ 2 ค่าจ้าง 790,000 บาท รวมเป็นเงิน2,570,000 บาท จ่ายค่าจ้างเป็น 3 งวด ตามผลงาน ต่อมาวันที่20 กุมภาพันธ์ 2523 บริษัทวี เอ เอส จำกัด ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างตามสัญญาทั้งสองฉบับให้แก่ โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ และในวันเดียวกันโจทก์กับบริษัทวี เอ เอสจำกัดมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบถึงการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยมีหนังสือตอบให้ความยินยอมโดยไม่อิดเอื้อนมายังโจทก์ในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทวี เอ เอส จำกัด เมื่อบริษัทวี เอ เอส จำกัด ทำงานให้จำเลยเสร็จตามงวดในสัญญาแล้ว จำเลยได้จ่ายค่าจ้างทั้งหมดให้แก่บริษัทวี เอ เอส จำกัด รับไป โดยจ่ายงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2523 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2532 เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี นับจากวันที่จำเลยชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่บริษัทวี เอ เอส จำกัด คดีขาดอายุความฟ้องร้องเรียกค่าจ้างทำของมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ในกรณีจำเลยให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องโดยไม่ได้อิดเอื้อนจำเลยจะยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความที่มีต่อบริษัทวี เอ เอสจำกัด ผู้โอนสิทธิเรียกร้องขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 308 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา 306 โดยมิได้อิดเอื้อน ท่านว่า จะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่ ฯลฯ” คำว่าข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนดังกล่าว นั้น หมายความว่าข้อต่อสู้ที่มีอยู่ในวันที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง การที่จำเลยหรือลูกหนี้รู้ว่ามีข้อต่อสู้ดังกล่าวในวันที่ทำการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ก็ยังให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องถือว่าจำเลยหรือลูกหนี้สละข้อต่อสู้นั้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่ต่อผู้โอนดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้แต่ถ้าข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นภายหลังวันโอนสิทธิเรียกร้องย่อมไม่ตัดสิทธิของจำเลยหรือลูกหนี้ที่จะยกขึ้นต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทวี เอ เอส จำกัด คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความฟ้องเรียกเอาค่าจ้างทำของซึ่งมีกำหนด 5 ปี จำเลยจึงยังไม่อาจยกขึ้นต่อสู้เรื่องอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ ต่อมาจำเลยได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องไปโดยไม่อิดเอื้อน และโจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากคดีขาดอายุความแล้วจำเลยจึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความดังกล่าวนั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ได้”
พิพากษายืน

Share