แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญากู้ได้ระบุวงเงินให้กู้ของโจทก์และของผู้ให้กู้อื่นแก่จำเลยที่ 1 ไว้คนละจำนวนในวงเงินไม่เท่ากันและเป็นไปตามลำดับ โจทก์และผู้ให้กู้อื่นมีส่วนในหนี้นั้นแยกกัน จึงไม่เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน ทั้งตามสัญญาก็มิได้กำหนดว่าการฟ้องคดีโจทก์จะต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ให้กู้ด้วยกันเสียก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องเจ้าหนี้หลายคนก็มิได้ระบุว่าผู้ให้กู้คนใดคนหนึ่งจะต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ให้กู้คนอื่นก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้กู้รายอื่นก่อน จำเลยทั้งสี่ให้การเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่าจำเลยที่ 1ได้รับเงินตามสัญญากู้ไม่ครบวงเงินกู้ทำให้โครงการขาดทุนหมุนเวียนถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้ง สี่ก็อุทธรณ์ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็วินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีนั้นจำเลยทั้งสี่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าอัตราดอกเบี้ยสูงเกินส่วนที่โจทก์ควรจะได้รับโจทก์วิเคราะห์ขนาดของเงินลงทุนผิดพลาด ทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้หลายร้อยล้านบาทและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเช่นใด จำเลยทั้งสี่จึง ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงเป็นข้อที่ มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อีกทั้งปัญหาเรื่องนี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน261,681,664.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปหากไม่ชำระให้บังคับจำนองจากที่ดินและเครื่องจักรออกขายทอดตลาด หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด มิใช่โจทก์โจทก์จึงไม่สามารถเรียกร้องจากจำเลยทั้งสี่ได้นอกจากนั้นการให้กู้เป็นแบบการให้กู้รวม ผู้ให้กู้ทุกรายจะต้องได้รับความยินยอมและเห็นชอบก่อนจึงจะฟ้องผู้กู้ได้ จำเลยที่ 1ไม่ได้รับเงินกู้ตามสัญญาครบวงเงินกู้จึงไม่จำต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่เกินกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับแรกเป็นเงิน 111,694,069.86 บาท ตามสัญญากู้ฉบับที่ 2เป็นเงิน 149,987,594.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปี ของต้นเงิน 261,681,664.38 บาท นับแต่วันฟ้อง(21 กรกฎาคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับแรกให้บังคับจำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3420, 3421, 3424, 3448, 3869, 4358 และ 4430ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร (บ้านบ่อ)จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นอันดับที่ 1 และที่ 3ในวงเงิน 101,700,000 บาท และ 35,000,000 บาทตามลำดับ และบังคับจำนองจากเครื่องจักรพร้อมส่วนควบและอุปกรณ์หมายเลขทะเบียน (รหัส 32 318 201) 0048-0183ในวงเงิน 18,000,000 บาท และหมายเลขทะเบียน(รหัส 33 318 201) 0691-0766, 0768-0791, 0793-0798 และ(รหัส 33 323 201) 0014-0070 ในวงเงิน 59,000,000 บาทหรือหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่สองให้บังคับจำนองจากที่ดินและเครื่องจักรดังกล่าวเป็นอันดับที่สองในวงเงิน67,300,000 บาท และ 14,650,000 บาท ตามลำดับและบังคับจำนองจากเครื่องจักรพร้อมส่วนควบและอุปกรณ์หมายเลขทะเบียน (รหัส 34 318 201) 0633-0635,0637-0684 ในวงเงิน 38,050,000 บาท หากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 248,340,306.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่11 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกมีว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากผู้ให้กู้รายอื่นได้หรือไม่เห็นว่า ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.37 และ จ.38 ได้ระบุวงเงินให้กู้ของโจทก์และของผู้ให้กู้อื่นแก่จำเลยที่ 1 ไว้คนละจำนวนในวงเงินไม่เท่ากันและเป็นไปตามลำดับโจทก์และผู้ให้กู้อื่นมีส่วนในหนี้นั้นแยกกัน จึงไม่เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน ทั้งตามสัญญาก็มิได้กำหนดว่าการฟ้องคดีโจทก์จะต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ให้กู้ด้วยกันเสียก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องเจ้าหนี้หลายคนก็มิได้ระบุว่า ผู้ให้กู้คนใดคนหนึ่งจะต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ให้กู้คนอื่นก่อน จึงจะฟ้องคดีได้ ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้กู้รายอื่นก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปมีว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีสูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า อัตราดอกเบี้ยสูงเกินส่วนที่โจทก์ควรจะได้รับ โจทก์วิเคราะห์ขนาดของเงินลงทุนผิดพลาดทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้หลายร้อยล้านบาท และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเช่นใด จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี เห็นว่าตามคำให้การของจำเลยทั้งสี่ได้ให้การเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญากู้ไม่ครบวงเงินกู้ทำให้โครงการขาดทุนหมุนเวียนถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสี่ก็อุทธรณ์ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็วินิจฉัยว่าข้อที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีนั้นจำเลยทั้งสี่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัยให้ดังนั้นปัญหาเรื่องดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี สูงเกินไปหรือไม่จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อีกทั้งปัญหาเรื่องนี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายมีว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยทั้งสี่ เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องและพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในดอกเบี้ยน้อยลงซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่แต่จำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องประการใดบ้างจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งไม่เป็นคำฟ้องฎีกาที่ควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน