คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยระบุ ขอให้ศาลอนุญาตให้ฎีกาโดยมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษา แต่พอถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะให้ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกานั่นเอง การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่บุคคลที่มีอำนาจให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 สั่งคำร้องโดยไม่อนุญาตให้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา โดยไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกับคดีอีกสำนวนหนึ่ง โดยเรียกจำเลยคดีนี้ว่า จำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานพยายามฆ่าจำคุก 5 ปี ฯลฯ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว

จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งแม้คำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ใช้คำว่าขอให้ “ศาล” อนุญาตให้ฎีกาโดยมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษา แต่พอถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ประสงค์ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกานั่นเอง การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่บุคคลที่มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 สั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ว่าไม่อนุญาตให้ฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา โดยไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ”

ให้ยกคำสั่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งฎีกาของจำเลยที่ 2 ตามรูปคดีต่อไป

Share