คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 714/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ทั้งแปลง จำเลยให้การว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์เพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลย เมื่อจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว ย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบก่อน
ที่จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินตามโฉนดกันคนละครึ่งโดยให้ทิศเหนือเป็นของจำเลย ทิศใต้เป็นของโจทก์นั้น แม้ข้อตกลงนี้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่เมื่อโจทก์นำสืบมิได้ตามที่กล่าวอ้าง คดีก็จะต้องฟังว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์และจำเลยคนละครึ่งตามที่จำเลยยอมรับ ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะมีสิทธินำสืบถึงข้อตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากผู้มีชื่อ แต่โจทก์เป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินไม่ได้จึงให้จำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้แบ่งขายที่ดินดังกล่าวไปบางส่วนแล้ว สำหรับที่ดินที่เหลือโจทก์ตกลงขายให้ผู้มีชื่อและขอให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ซื้อ จำเลยปฏิเสธ ขอศาลบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนขายที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยเข้าหุ้นส่วนซื้อที่ดินดังกล่าวโดยออกเงินกันคนละครึ่ง แต่ละชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวเพื่อจัดสรรขายหากำไรแบ่งกัน ซื้อแล้วโจทก์ขอให้จำเลยเอาที่ดินดังกล่าวจำนองค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์เป็นหนี้ธนาคารอยู่ จำเลยยินยอม ต่อมาโจทก์ละเลยไม่นำเงินเข้าธนาคาร เป็นเหตุให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งที่ดินกันคนละครึ่ง โดยให้ทางทิศเหนือเป็นของจำเลยและทางทิศใต้เป็นของโจทก์ จำเลยได้แบ่งที่ดินทางทิศใต้ออกเป็น ๑๕ โฉนด และโจทก์ขายชำระหนี้ให้ธนาคารไปหมดแล้ว ที่ดินส่วนของโจทก์คงเหลือตอนขายน้ำอีก ๑๐ ตารางวาเศษเท่านั้น ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเดิม แล้วสั่งให้จำเลยนำสืบก่อน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยืนยันตามคำสั่งเดิม
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งหมด โจทก์คงมีสิทธิในที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ตารางวาเศษเท่านั้น พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินเนื้อที่ ๑๐ ตารางวาเศษให้แก่ผู้ซื้อที่ดินแปลงนี้จากโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ทั้งคำสั่งเรื่องหน้าที่นำสืบและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นและสั่งเรื่องหน้าที่นำสืบไม่ถูกต้องโดยอ้างว่าจำเลยให้การรับว่าจำเลยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ แทนโจทก์ แม้จะรับว่าจำเลยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์เพียงครึ่งเดียว ต้องถือว่าจำเลยรับว่าจำเลยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่าจำเลยลงชือเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์เพียงครึ่งเดียว จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบว่าที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ เป็นของจำเลยครึ่งหนึ่ง และที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ที่เหลืออยู่ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยตามข้อตกลงอันเป็นการประนีประนอมยอมความ เมื่อไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่มีประเด็นนำสืบเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ และเมื่อจำเลยให้การว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ แทนโจทก์เพียงครึ่งหนึ่ง แต่โจทก์อ้างว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ แทนโจทก์ทั้งแปลง โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าเป็นจริงเช่นนั้น มิฉะนั้นก็จะต้องฟังตามที่จำเลยยอมรับ ส่วนที่จำเลยให้การว่าต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ กันคนละครึ่งโดยให้ทางทิศเหลือเป็นของจำเลยและทางทิศใต้เป็นของโจทก์ แล้วโจทก์แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ทางทิศใต้ออกเป็นแปลงเล็ก ๆ รวม ๑๕ โฉนด จัดสรรขายเอาเงินชำระหนี้ให้ธนาคาร ส่วนของโจทก์คงเหลือเฉพาะขายน้ำเพียง ๑๐ ตารางวาเศษ ส่วนที่เหลือทางทิศเหนือเป็นของจำเลยนั้น แม้ข้อตกลงแบ่งที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ระหว่างโจทก์กับจำเลยจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จากคำเบิกความของโจทก์ประกอบกับแผนที่ในโฉนดที่ ๕๔๒๖ ตามเอกสารหมาย จ.๖ ก็ปรากฏว่าโจทก์แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ทางทิศใต้ออกเป็นแปลงเล็ก ๆ รวม ๑๕ โฉนด แล้วโจทก์จัดสรรขายที่ดินทั้ง ๑๕ โฉนดดังกล่าวเอาเงินชำระหนี้ให้ธนาคาร ขณะนี้ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ทางทิศใต้คงเหลืออยู่ประมาณ ๑๐ ตารางวาเศษทางด้านที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาจริงดังคำให้การจำเลย ดังนั้น หากโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ แทนโจทก์ทั้งแปลง ก็จะต้องฟังว่าที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ เป็นของโจทก์และจำเลยคนละครึ่งดังที่จำเลยต่อสู้ไว้ เมื่อโจทก์แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ทางทิศใต้ไปคงเหลือเพียง ๑๐ ตารางวาเศษ ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ อีกครึ่งหนึ่งทางทิศเหนือจึงเป็นของจำเลย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะนำสืบตามที่ให้การดังกล่าวได้หรือไม่
ที่โจทก์ฎีกาโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ และชำระเงินค่าที่ดินด้วยเงินของโจทก์เพียงคนเดียว นายเส็งบิดาจำเลยไม่ได้เข้าหุ้นส่วนกับโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวและโจทก์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ทั้งแปลงนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ แทนโจทก์ทั้งแปลงดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่โจทก์ไม่มีพยานสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ และชำระค่าที่ดินด้วยเงินของโจทก์คนเดียว ทั้งนายเสงี่ยมพยานโจทก์ยังเบิกความเจือสมข้อนำสืบของจำเลยดังที่วินิจฉัยไว้แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ได้ ว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ แทนโจทก์ทั้งแปลง และต้องฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ แทนโจทก์เพียงครึ่งหนึ่งตามคำให้การและข้อนำสืบของจำเลย เมื่อโจทก์แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ทางทิศใต้ออกเป็นแปลงเล็ก ๆ รวม ๑๕ โฉนด ที่ดินโฉนดที่ ๕๔๒๖ ส่วนของโจทก์จึงคงเหลืออยู่ในโฉนดที่ ๕๔๒๖ เพียง ๑๐ ตารางวาเศษ ตรงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share