คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6124/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสำนวนการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการสอบสวนทางวินัย ปรากฏว่าทางราชการได้ดำเนินการสืบสวน ความผิดของโจทก์ไปตามระเบียบและขั้นตอน ของกฎหมายเริ่มตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน หาข้อเท็จจริงคณะกรรมการได้สอบปากคำพยานบุคคล และเอกสารผู้เกี่ยวข้อง เมื่อเห็นว่ามีมูลความจริงแล้ว จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ที่แก้ไขแล้ว แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ ซึ่งคณะกรรมการ ก็ได้สอบสวนทั้งพยานบุคคลจำนวนหลายปากและพยานเอกสาร ได้ความสอดรับกันตั้งแต่ต้น แล้วจำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ ออกจากราชการ เมื่อเป็นคำสั่งที่อาศัยผลจากการสอบสวน ทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่จำเลย ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันกัน ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการเรียกเอาทรัพย์ตามที่ถูกกล่าวหาแม้ต่อมาโจทก์จะได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าวก็มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เสีย ดังนี้ ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นคำสั่งที่ปราศจากพยานหลักฐานที่จะยืนยันว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นความจริงจึงชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นการไม่ชอบ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ 4187/2529 เรื่องปลดข้าราชการออกจากราชการ สั่ง ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2529 ให้จำเลยรับโจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่าตำแหน่งเดิมในขณะที่ถูกปลดออกตามคำสั่งนั้น
จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยได้พิจารณาจากพยานหลักฐานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องที่โจทก์ถูกกล่าวหาโดยมีพยานหลักฐานระบุว่า โจทก์ได้ร่วมกับนายคำพอง ห่วงประโคนและผู้อื่นเรียกร้องเอาเงิน และวัวจากนายเพ็ง นายอิทธิพลและนายเกี้ยวเพื่อช่วยเหลือบุตรของบุคคลทั้งสามให้ได้เข้าทำงานจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดจำเลยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย (เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 5)ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานส่งเสริมวิชาการและบริการสาธารณสุขสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528นายเพ็ง หอยจันทร์ มีหนังสือร้องเรียนว่านายคำพอง ห่วงประโคนข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค 3ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานเดียวกันกับโจทก์ได้เรียกเอาเงินสดและวัวจากนายเพ็งอ้างว่าจะช่วยเหลือให้นางสาวพิราวรรณ หอยจันทร์ บุตรสาวของนายเพ็งสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรวิชาการสาธารณสุขชุมชน (ผดุงครรภ์อนามัย)ทุนของจังหวัดศรีสะเกษประจำปี 2528 ได้ แต่ปรากฏว่าสอบไม่ได้ นายเพ็งทวงถามให้นายคำพองคืนเงินแต่นายคำพองไม่ยอมคืนให้ วันที่ 12 กรกฎาคม 2528ทางราชการได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและสอบสวนหาข้อเท็จจริงคณะกรรมการสืบสวนและสอบสวนแล้วเรื่องดังกล่าวมีมูลความจริงและระบุว่าโจทก์มีส่วนรู้เห็นในการเรียกเอาเงินและวัวจากนายเพ็ง นายเกี้ยว สายเพชร กับพวก วันที่ 12 กันยายน 2528จำเลยมีคำสั่งที่ 4791/2528 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกล่าวหาว่านายคำพอง โจทก์กับพวกอีก 1 คน ร่วมกระทำผิดและเป็นผู้รับรู้และรู้เห็นในการเรียกเอาเงินและวัวจากนายเพ็งกับพวกดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีความเห็นว่าโจทก์ได้ร่วมกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา วันที่ 27 สิงหาคม 2529จำเลยได้มีคำสั่งที่ 4187/2529 ปลดโจทก์ออกจากราชการโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)คณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งและนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งของจำเลยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งดังกล่าวของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะเป็นคำสั่งที่ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ที่ยืนยันว่าโจทก์ได้ร่วมกระทำผิดกับนายคำพอง เห็นว่า ตามสำนวนการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการสอบสวนทางวินัยเอกสารหมาย จ.ล.1 ปรากฏว่าทางราชการได้ดำเนินการสืบสวนความผิดของโจทก์ไปตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายเริ่มตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการได้สอบปากคำพยานบุคคลผู้เกี่ยวข้อง 5 ปากคือนายเพ็ง หอยจันทร์ ผู้กล่าวหาร้องเรียน นายเกี้ยว สายเพชรนายประเสริฐ พยัคฆยานนท์ นายเลื่อน ศรีอินทร์ และนายอิทธิพล พวงทอง โดยมีพยานเอกสารสำเนาหนังสือร้องเรียนของนายเพ็ง สำเนาหนังสือจากโจทก์ถึงนายเกี้ยวให้นายเกี้ยวนำทะเบียนบ้านและใบสุทธิไปให้ สำเนาข้อสอบสำเนาใบสมัครสอบของบุตรสาว นายเพ็งและนายอิทธิพลตลอดจนสำเนาประกาศจังหวัดศรีสะเกษเรื่องผลการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรวิชาพยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์มาแสดงประกอบ เมื่อเห็นว่ามีมูลความจริงแล้ว จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2518 ที่แก้ไขแล้วแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ ซึ่งคณะกรรมการก็ได้สอบสวนทั้งพยานบุคคลจำนวนหลายปากและพยานเอกสารได้ความสอดรับกันตั้งแต่ต้นว่า ในการที่นายคำพองเรียกเอาเงินและวัวจากนายเพ็งก็ดี เรียกเอาเงินจากนายเกี้ยวก็ดีโดยอ้างว่าจะช่วยเหลือบุตรสาวของนายเพ็งและบุตรชายของนายเกี้ยวให้สอบเข้าศึกษาในหลักสูตรวิชาพยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์และเข้าทำงานเป็นภารโรงได้นั้น ได้มีโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายคำพองอยู่เบื้องหลังและมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าการนำวัวที่ได้มาไปฆ่าเลี้ยงกันที่บ้านโจทก์โจทก์มีหนังสือถึงนายเกี้ยวแจ้งให้นายเกี้ยวไปพบโจทก์นายเกี้ยวจึงไปถามนายคำพองว่าให้ไปพบเรื่องอะไรนายคำพองบอกนายเกี้ยวว่าเพื่อช่วยเหลือบุตรชายนายเกี้ยวเข้าทำงานและได้พานายเกี้ยวไปพบโจทก์ นายเกี้ยวได้มอบใบสุทธิและทะเบียนบ้านให้แก่โจทก์ โจทก์บอกนายเกี้ยวว่าเรื่องนี้ได้มอบให้นายคำพองเป็นผู้จัดการ ต่อมาเมื่อบุตรสาวและบุตรชายของนายเพ็งและนายเกี้ยวสอบไม่ได้และเข้าทำงานเป็นภารโรงไม่ได้ นายคำพองได้พานายเพ็งและนายเกี้ยวไปพบโจทก์ โจทก์บอกให้รอตำแหน่งที่โรงพยาบาลนายเพ็งไม่ยินยอม โจทก์พยายามเกลี้ยกล่อม ถึงกับให้นายเพ็งดื่มน้ำสาบาน ต่อมานายเกี้ยวได้ร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปราม นายคำพองและโจทก์จึงยอมคืนเงินให้แก่นายเกี้ยวมีการทำบันทึกกันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภออุทุมพรพิสัย ดังนี้ การที่จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่อาศัยผลจากการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่จำเลยตั้งขึ้นตามกฎหมายซึ่งมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันกันว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการเรียกเอาเงินและวัวตามที่ถูกกล่าวหา แม้ต่อมาโจทก์จะได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าวก็มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เสีย ดังนี้ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นคำสั่งที่ปราศจากพยานหลักฐานที่จะยืนยันว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นความจริง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share