คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานของจำเลยเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้างเพียงชั่วคราวก็ตามแต่กรณีก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 13 มาตรา 16 และมาตรา 18 กล่าวคือจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้ อีกฝ่ายหนึ่งทราบและทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง หากเป็นที่ตกลงกันก็ต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย ทั้งต้องปิดประกาศข้อตกลงดังกล่าวและนำไปจดทะเบียนตามกฎหมายดังกล่าวด้วย จึงจะถือว่าเป็นการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยรวบรัดเกินไป จำเลยจึงไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารประกอบได้ทั้งหมด ทำให้การรับฟังข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์และครบถ้วน เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดต่อวิธีพิจารณา สมควรที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นั้นเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจการงดสืบพยานและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ช่างฝังอัญมณี โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2537 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,600 บาทโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,800 บาท โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ11,600 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยโจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 7,773 บาท5,720 บาท และ 8,506 บาท กับค่าชดเชยจำนวน 63,600 บาท46,800 บาท และ 34,800 บาท แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามจงใจให้จำเลยไล่ออกจากงานเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย จำเลยประสบปัญหาทางด้านการเงินเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงประชุมพนักงานขอลดเวลาทำงานลงเป็นการชั่วคราวพนักงานทุกคนให้ความร่วมมือและลงชื่อรับทราบผลการประชุมไว้ แต่โจทก์ทั้งสามไม่ยอมให้ความร่วมมือ กระด้างกระเดื่องต่อจำเลย และปลุกปั่นพนักงานอื่นที่ยอมให้ความร่วมมือแล้วเพื่อไม่ให้ความร่วมมือแก่จำเลยอีก ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2541จำเลยเปลี่ยนเวลาทำงานจากเดิมทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ระหว่างเวลา 8.30 ถึง 17.30 นาฬิกา เป็นทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 9 ถึง 17 นาฬิกาโดยโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอมและไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันเสาร์ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับค่าจ้างน้อยลงเดือนละ1,412 บาท 1,040 บาท และ 1,546 บาท ตามลำดับ ซึ่งวันเวลาทำงานนี้ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 การที่จำเลยจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กล่าวคือ จะต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ และตั้งตัวแทนเข้าเจรจาไม่เกิน 7 คน หากเจรจากันภายใน 3 วัน และตกลงกันได้ก็ให้ทำเป็นบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงชื่อทั้งสองฝ่ายนำไปจดทะเบียนและปิดประกาศ จึงจะถือว่าเป็นการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยแก้ไขวันเวลาทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่ยินยอมกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้การที่โจทก์ทั้งสามไม่ยินยอมถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 583 จำเลยมีหน้าที่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสามและการที่โจทก์ทั้งสามไม่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ชอบของจำเลยนั้น ก็ไม่ถือว่าเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสาม พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,773 บาท 5,720 บาท และ 8,506 บาท กับค่าชดเชยจำนวน 63,600 บาท 46,800 บาท และ 34,800 บาทแก่โจทก์ทั้งสาม ตามลำดับ
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นประการแรกว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานอันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 10 เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้างแบบถาวร แต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้างของจำเลยเป็นเพียงชั่วคราว จึงไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นนั้น เห็นว่า แม้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานของจำเลยเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้างเพียงชั่วคราวดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตามก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 มาตรา 16 และมาตรา 18กล่าวคือ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ และทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง หากเป็นที่ตกลงกันก็ต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย ทั้งต้องปิดประกาศข้อตกลงดังกล่าวและนำไปจดทะเบียนตามกฎหมายดังกล่าวด้วย จึงจะถือว่าเป็นการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยรวบรัดเกินไป จำเลยจึงไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริง และส่งเอกสารประกอบได้ทั้งหมด ทำให้การรับฟังข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์และครบถ้วน เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดต่อวิธีพิจารณา สมควรที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการงดสืบพยานและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share