คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ที่โจทก์จะพึงได้รับนี้มีพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย และมาตรา 28 วรรคสอง กำหนด ให้โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือศาล มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินซึ่งเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นโดยไม่จำต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเสียก่อน ดังนี้เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 วันวางเงินตามความหมายแห่งมาตรา 26 วรรคสุดท้ายและมาตรา 28 วรรคสองคือวันที่สิ้นสุด 60 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือ ของฝ่ายจำเลยให้ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทน และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใด ก็ต้องถือวันเดือนปีที่ออกหนังสือดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้น นับกำหนดเวลาให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยภายใน 60 วัน จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อ ทำสัญญารับเงินค่าทดแทนลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 สิ้นสุด 60 วัน ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2536 วันวางเงินค่าทดแทน จึงเป็นวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 ดังนั้นวันเริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มจึงเป็นวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าฝ่ายจำเลย จะชำระค่าทดแทนเสร็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 83915 พร้อมสิ่งปลูกสร้างถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 21,000 บาทรวม 49 ตารางวา เป็นเงิน 1,029,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 904,902.48 บาท รวมเป็นเงิน 1,933,902.48 บาทที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ50,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก1,421,000 บาท พร้อมสิ่งปลูกสร้างควรมีราคา 1,500,000 บาทจำเลยทั้งสามต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเพิ่มอีก 595,097บาท รวมเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ 2,016,097บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วภายหลังฟ้องคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 55,667.36 บาท จำเลยทั้งสามจึงต้องชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ 1,960,429.64บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,960,429.64 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ที่เวนคืนไม่เป็นผู้กำหนดเงินค่าทดแทนไม่มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนและไม่ได้เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ถูกต้องแล้ว ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้อีกตารางวาละ1,000 บาท รวม 49 ตารางวา เป็นเงิน 49,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 6,667.36 บาท รวมเป็นเงิน 55,667.36 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 385,332.64บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม2539 ซึ่งเป็นวันพิพากษาคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงิน 875,332.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ปัญหาสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คือ ปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่เพียงใด ในปัญหานี้จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อฝ่ายจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เป็นธรรมแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจนกว่าจะชำระค่าทดแทนเสร็จเพราะฝ่ายจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดและเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มจากจำนวนค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ จึงต้องรอฟังผลคดีอันถึงที่สุดเสียก่อนว่าฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มหรือไม่เพียงใด และดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับก็ต้องเป็นไปตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งมีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปีเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” และในมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันบัญญัติว่า”ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนผู้ใดไม่มารับเงินค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือในกรณีที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายใดได้ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอื่น ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งส่วนเงินค่าทดแทนของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่วางเงินค่าทดแทนไว้ตามมาตรา 31 โดยพลัน” จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือศาลมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่ม ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินซึ่งเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นโดยไม่ จำต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเสียก่อนดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ปัญหาต่อไปมีว่าวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนคือวันใด ศาลอุทธรณ์ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือเอกสารหมาย จ.4 แจ้งการวางเงินค่าทดแทนไปยังโจทก์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าวันดังกล่าวมิใช่วันวางเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย และมาตรา 28 วรรคสองวันวางเงินตามความหมายแห่งกฎหมายทั้งสองบทนี้ คือวันสิ้นสุด60 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ของฝ่ายจำเลยให้ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทน เมื่อข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.3 เมื่อใด ก็ต้องถือวันเดือนปีที่ออกหนังสือดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นนับกำหนดเวลาให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยภายใน 60 วัน หนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนเอกสารหมาย จ.3ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 สิ้นสุด 60 วัน ในวันที่ 11 กรกฎาคม2536 วันวางเงินค่าทดแทนจึงเป็นวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 12 กรกฎาคม2536 ดังนั้นวันเริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มจึงเป็นวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าทดแทนเสร็จฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 637,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share