คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการด้วยกัน และมีสมุหบัญชีคนเดียวกัน ผู้ขอรับชำระหนี้ย่อมต้องทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว การจ่ายเงินของผู้ขอรับชำระหนี้ไปนั้นเป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทไผ่ไทย จำกัด จำเลยที่ 1 บริษัทโรแยลซีรามิตอุตสาหกรรม จำกัด ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ค่าทดรองจ่าย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่าเห็นควรให้ยกคำร้องของผู้รับรับชำระหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอรับชำระหนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 บริษัทจำเลยที่ 1กับบริษัทผู้ขอรับชำระหนี้เป็นบริษัทในเครือเดียวกันโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการด้วยกัน และมีสมุหบัญชีคนเดียวกันผู้ขอรับชำระหนี้ได้จ่ายเงินทดรองให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่คิดดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 เคยนำเงินมาหักหนี้กันบ้าง และเมื่อคิดบัญชีกันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังเป็นลกูหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 1,554,009.11 บาท กับดอกเบี้ย 233,101.37 บาท รวมทั้งสิ้นที่ขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 1,787,110.48บาท ปัญหาว่าผู้ขอรับชำระหนี้จะขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้ขอรับชำระหนี้กับจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทเครือเดียวกัน มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการด้วยกัน และมีสมุหบัญชีคนเดียวกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัททั้งสองย่อมต้องทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยที่ 1 ว่ามีหนี้สินเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดสรรเงินจากผู้ขอรับชำระหนี้จ่ายทดรองให้จำเลยที่ 1 ไป ผู้ขอรับชำระหนี้ย่อมต้องทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ได้จ่ายเงินทดรองให้จำเลยที่ 1 ไปนั้น จึงเป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 94(2)”

พิพากษายืน

Share