แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัมปทานปิโตรเลียมที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยกับพวกเป็นการอนุญาตให้จำเลยกับพวกมีสิทธิแต่ผู้เดียวในกิจการสำรวจการปิโตรเลียมภายในขอบเขตที่กำหนดซึ่งจำเลยกับพวกจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ แต่การจ่ายเงินผลประโยชน์มีจำนวนมากหลายรายการเพื่อผ่อนผันแบ่งเบาภาระให้แก่จำเลย จึงได้กำหนดในสัมปทานให้แบ่งชำระเป็นงวด เงื่อนไขดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์พึงได้รับประโยชน์จากการที่ยอมให้สัมปทานแก่จำเลย มิใช่เป็นเงินอื่น ๆ ที่กำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จึงไม่เป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดอายุความไว้ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพาะเป็นอย่างอื่นจึงต้องใช้อายุความทั่วไปกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินผลประโยชน์พิเศษให้แก่โจทก์แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์เตือนแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันผิดนัดให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งที่มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้ออกสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2517/14 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2517 ให้แก่บริษัทโอเชี่ยนนิคเอ็กซพลอเรชั่น เอส.อี.เอ. อินคอปอเรชั่น และบริษัทสุวรรณมาศ จำกัด ต่อมา บริษัทสุวรรณมาศ จำกัด ได้ขอโอนสิทธิ ประโยชน์และพันธะทั้งหมดของตนตามสัมปทานดังกล่าวให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 1 อนุญาตแล้ว ตามข้อกำหนดของสัมปทานข้อ 6บริษัทโอเชี่ยนนิคเอ็กซพลอเรชั่น เอส.อี.เอ.อินคอปอเรชั่นและจำเลยผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ชำระเงินผลประโยชน์พิเศษแก่โจทก์รวม 3 งวด สำหรับเงินผลประโยชน์พิเศษงวดที่ 1 และงวดที่ 2ผู้รับสัมปทานได้ชำระให้แล้ว ยังคงเหลือเงินผลประโยชน์พิเศษงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ตามสัมปทานข้อ 6(3) เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,170,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2519 แต่จำเลยได้ขอผ่อนผันและโจทก์ที่ 1 ได้อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาการชำระเงินดังกล่าวออกไปอีกจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2520 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยมิได้ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,170,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือจำนวน 30,057,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2520 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยได้รับโอนสิทธิ ประโยชน์และพันธะตามสัมปทานโดยจำเลยมีสิทธิประโยชน์และพันธะตามสัมปทานร้อยละ 27ฉะนั้นหากจำเลยจะต้องรับผิด จำเลยจะต้องรับผิดเพียงร้อยละ 27ของจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น เงินผลประโยชน์พิเศษตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเงินค้างจ่ายประเภทเงินอื่น ๆ บรรดาที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ซึ่งโจทก์ต้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายในอายุความ 5 ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 5 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความสำหรับดอกเบี้ยของเงินผลประโยชน์พิเศษเป็นอุปกรณ์ของสิทธิเรียกร้องเงินผลประโยชน์พิเศษจึงขาดอายุความแล้ว โดยเฉพาะดอกเบี้ยค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2520 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2525เป็นสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างส่งเมื่อฟ้องเกิน 5 ปีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไปตามคำฟ้องคำให้การ เอกสารที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาลโดยโจทก์จำเลยรับกันว่าเอกสารท้ายคำฟ้องและคำให้การกับเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,057,300 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน2520 ให้แก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับเงินผลประโยชน์พิเศษขาดอายุความหรือไม่พิเคราะห์แล้ว สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2517/14 ที่โจทก์ที่ 1ออกให้แก่จำเลยกับพวกเป็นการอนุญาตให้จำเลยกับพวกมีสิทธิที่จะทำได้แต่ผู้เดียวในกิจการสำรวจการปิโตรเลียมภายในขอบเขตที่กำหนดซึ่งจำเลยกับพวกจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่การจ่ายเงินผลประโยชน์มีจำนวนมากหลายรายการเพื่อผ่อนผันแบ่งเบาภาระให้แก่จำเลย จึงได้แบ่งชำระเป็นงวดตามสัมปทานข้อ 6(3)(4)(5) และ (7) เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ที่มีปัญหาก็คือ เงินผลประโยชน์พิเศษงวดที่ 3 ซึ่งในสัมปทานใช้คำว่า”กับทุกปีหลังจากนั้นเป็นเวลาต่อเนื่องกันอีกสองปี” จะถือว่าเป็นการจ่ายเงินอื่น ๆ บรรดาที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม ที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เงื่อนไขดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์พึงได้รับประโยชน์จากการที่ยอมให้สัมปทานแก่จำเลย มิใช่เป็นเงินอื่น ๆ ที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาจึงไม่เป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดอายุความไว้ 5 ปี ตามมาตรา166 เดิม ดังฎีกาจำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพาะเป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความทั่วไปกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับเงินผลประโยชน์พิเศษจึงไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง ส่วนเรื่องดอกเบี้ยแม้ว่าสัมปทานมิได้กำหนดไว้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวแล้วตามหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และ 6 จำเลยไม่ชำระเงินผลประโยชน์พิเศษให้แก่โจทก์จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์เตือนแล้ว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันผิดนัดให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งที่มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม คดีโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยที่เกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 30,057,000 บาท นับจากวันฟ้องย้อนหลังลงไป 5 ปีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์